เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 52
กรมพัฒนาที่ดินชี้ดินไทยปลอดภัยจากโลหะหนัก หลังศึกษาเก็บตัวอย่างในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ในพื้นที่ 76 จังหวัด ได้ค่าต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าโลหะหนักในดินของต่างประเทศ
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ทำโครงการศึกษา ติดตาม และพัฒนาระบบฐานข้อมูลโลหะหนักในดินปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรด รวมจำนวน 634 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 76 จังหวัด ของประเทศ เพื่อวิเคราะห์โลหะหนักที่อาจปนเปื้อนในพืชอาหาร และเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จากการศึกษาพบว่า ในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ศึกษามีค่าเฉลี่ยปริมาณโลหะหนัก สารหนู แคดเมียม ทองแดง ตะกั่ว และสังกะสี เป็น 5.80 0.21 12.43 12.45 และ 24.88 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ ซึ่งเป็นค่าที่น้อยกว่าค่ามาตรฐานโลหะหนักในดินของต่างประเทศ ทั้งในยุโรป อเมริกา หรือเอเชีย
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานค่าโลหะหนักในดินสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจหรือพืช อาหาร ดังนั้นการศึกษาและดำเนินโครงการดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้กำหนดค่าพื้นฐานโลหะหนักในดินเกษตรกรรมของประเทศได้ และจากการประเมินผลเบื้องต้นของการศึกษาในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจได้ค่าพื้น ฐานของสารหนูแคดเมียม ทองแดง ตะกั่ว และสังกะสี เป็น 30 1 45 55 และ 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ
นายฉลองกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ยังได้ดำเนินการศึกษาวิจัย และมีแผนงานติดตามตรวจสอบสถานการณ์โลหะหนักในดินเกษตรกรรมและในพืชอาหาร ได้แก่ ข้าว พืชผัก พืชไร่ และพืชหัว ที่ใช้บริโภคในครัวเรือน เพื่อให้ทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของพืชอาหาร และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับนักวิชาการ และผู้ที่สนใจอีกด้วยสำหรับผู้สนใจรายละเอียดของโครงการดังกล่าวสามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://osl101.ldd.go.th/thaisoils_museum/INDEX0.html
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 10 สิงหาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=173745