เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 52
นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯเตรียมผลักดันนโยบายยางพารา 2 ประเด็น โดยประเด็นแรก เป็นการผลักดันอย่างเร่งด่วนให้การปลูกยางพาราของไทยเข้าโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดตามสนธิสัญญาเกียวโต เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต เนื่องจากสภาพสวนยางและพืชยืนต้นทางเศรษฐกิจอื่นๆ ของไทย มีสภาพเป็นป่าตามคำจำกัดความของข้อตกลงตามสนธิสัญญาเกียวโต คือ มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ไร่ มีเรือนยอดปกคลุมร้อยละ 30 และมีความสูง 3 เมตร ดังนั้นจึงสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์การสวนยาง เพื่อนำเสนอโครงการปลูกป่า(ด้วยพืชเศรษฐกิจ) ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามสนธิสัญญา เพื่อก่อให้เกิดรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตให้แก่เกษตรกรต่อไป โดยเริ่มต้นที่พืชยางพาราก่อน
ประเด็นที่สอง ผลักดันให้มีการใช้ยางธรรมชาติผสมยางมะตอยเพื่อใช้ในการสร้างทาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาและทดสอบการใช้ยางธรรมชาติผสมยางมะตอย เพื่อใช้ในการสร้างทาง ร่วมกับกรมทางหลวง พบว่า การผสมยางธรรมชาติร้อยละ 5 จะเหมาะสมที่สุด โดยมีต้นทุนการก่อสร้างเฉพาะส่วนผิวทางเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 6 ในขณะที่มีคุณสมบัติอื่นๆ ที่ดีกว่า รวมทั้งมีอายุการใช้งานนานกว่า คุ้มค่าต่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ก่อนนี้ยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้เพราะยังไม่ได้วิจัยและออกแบบอุปกรณ์ ในการผสมยางธรรมชาติกับยางมะตอย แต่ปัจจุบันได้วิจัยและออกแบบใช้ในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แจ้งกระทรวงคมนาคม เพื่อไปใช้ในการกำหนดรายละเอียดการสร้างทางต่อไป รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติได้เห็นชอบในหลักการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 11 สิงหาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=173916