เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 52
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เผยว่า ได้มอบนโยบายให้นักวิชาการของกรม ทำการศึกษาและวิจัยทดลองขยายพันธุ์ปลาบู่ เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพสำหรับประชาชน อันจะนำรายได้ที่มั่นคงมาสู่ครอบครัว เนื่องจากปลาบู่เป็นที่ต้องการของตลาด Hypermarket ในประเทศ และตลาดต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน เพราะเป็นปลาเนื้อขาวที่มีรสชาติอร่อย เนื้อนุ่มฟู เหนียว ไม่เละ เฉกเช่นเดียวกับปลาสำลี จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ปลาบู่ มีราคาแพงมาก ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 500 - 700 บาท/กิโลกรัม จึงมีแค่เพียงผู้ที่มีกำลังซื้อสูงเท่านั้นถึงจะได้รับประทาน ส่วนใหญ่นิยมรับประทานกันแบบนำปลาเป็นๆ ไปประกอบอาหารในภัตตาคารจีน เรียกว่าขึ้นเหลาเท่านั้นถึงได้ลิ้มรส
การที่ปลาบู่มีราคาสูงมากนั้น เนื่องจากปัจจุบันปลาที่มีขายกันอยู่นั้นเป็นปลาที่จับได้จากธรรมชาติทั้งสิ้น ถึงแม้ว่ากรมประมง จะประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบู่ และปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติแล้วก็ตาม แต่สำหรับการอนุบาลลูกปลาบู่วัยอ่อนให้มีชีวิตรอดนั้นยังมีจำนวนไม่มากพอที่ จะสามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้ จึงไม่มีวัตถุดิบป้อนสู่ตลาดได้ตามความต้องการ
ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้สั่งการให้นักวิชาการประมงศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการอนุบาลลูกปลาบู่วัยอ่อน โดยในระยะแรกภายใน 9 เดือนข้างหน้า มีเป้าจะผลิตลูกปลาบู่ให้ได้ 100,000 ตัว อย่างไรก็ตามในช่วงประมาณปลายเดือนสิงหาคมนี้ จะนำร่องปล่อยพันธุ์ปลาบู่ที่เพาะได้ก่อนหน้านี้สู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ในโครงการฟื้นฟูพันธุ์ปลาไทย ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ จากนั้นหากการศึกษาประสบผลสำเร็จ ก็จะเผยแพร่ความรู้ให้เกษตรกรสามารถนำไปประกอบอาชีพได้
ทั้งนี้ หากมีผู้เพาะเลี้ยงปลาบู่เพิ่มขึ้นและปริมาณผลผลิตมากขึ้น เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ราคาก็คงจะลดลงทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อหามารับประทานได้ง่ายขึ้น ทั้งยังสามารถส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างดีที เดียว โดยเฉพาะการส่งออกในรูปแบบของปลาที่ยังมีชีวิต ที่สำคัญอย่างยิ่ง จะเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 13 สิงหาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=174219