เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 52
ภาพการชุมนุมประท้วงของเกษตรกรที่เห็นกันชินตาในทุกๆ ปีเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งไม่ว่าภาครัฐจะแก้ปัญหาอย่างไรก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน กระทั่งมาถึงยุครัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความคิดที่จะเปลี่ยนจากระบบการจำนำมาเป็นประกันราคาแทน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาผลิตผลทางการเกษตรได้อย่างตรงจุดมากกว่า
อภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แต่เดิมรัฐใช้วิธีจำนำสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ หรือมันสำปะหลัง แต่พบปัญหาโดยเฉพาะปี 2551 ที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ แต่ช่วงปลายปีราคาก็ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อรัฐประกาศโครงการจำนำโดยนำราคาอ้างอิงของปีนั้นมาใช้ทำให้ราคารับจำนำสูงมาก เกษตรกรจึงแห่นำมาเข้าโครงการจำนำกันหมด แต่กลายเป็นลักษณะนำมาขายมากกว่าจำนำ เพราะไม่มีใครมาไถ่ถอนคืน เพราะราคาตลาดต่ำกว่ามาก ทำให้กลไกตลาดไม่ทำงาน รัฐจึงต้องแบกรับภาระทั้งค่าจำนำที่สูง ต้นทุนเรื่องโกดังเก็บสินค้า อีกทั้งค่าแปรรูปและเก็บรักษา ขณะที่จะนำออกมาขายก็ต้องขายในราคาที่ขาดทุน ซึ่งทำให้รัฐเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก
"ที่สำคัญการจำนำนั้นจะเกิดกรณีสวมสิทธิ์จำนวนมาก คือ เกษตรกรได้ขายสินค้าให้พ่อค้าไปแล้วในราคาที่ต่ำ แต่พ่อค้าได้ใช้สิทธิ์ของเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการจำนำ ซึ่งทำให้ไม่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างที่รัฐตั้งใจ กลายเป็นเปิดโอกาสให้กลุ่มพ่อค้าหรือเกษตรกรรายใหญ่มากกว่า รัฐบาลจึงมีนโยบายปรับระบบการจำนำมาเป็นการประกันราคาแทน"
เลขาธิการ สศก.ย้ำอีกว่า วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะรัฐจะประกาศราคาประกันไว้สำหรับสินค้า 3 ชนิด ทั้ง ข้าว ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง โดยวิเคราะห์จากต้นทุนเฉลี่ยที่แท้จริงของเกษตรกร บวกกับค่าขนส่งระหว่างแปลงของเกษตรกรไปยังจุดรับซื้อ แล้วคิดกำไรให้เกษตรกรประมาณ 15-20% แล้วแต่ชนิดของสินค้า พร้อมกันนี้จะดูราคาอ้างอิงจากราคาตลาดทั้งในและต่างประเทศประกอบด้วย โดยจะประกาศราคาประกันทุก 15 วัน ถ้าเกษตรกรขายได้ราคาสูงกว่าราคาประกันรัฐก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ถ้าเกษตรกรขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประกัน รัฐจะจ่ายชดเชยส่วนต่างให้ทันที
“วิธีการนี้นอกจากจะทำให้เกษตรกรเชื่อมั่นได้ว่าผลิตสินค้ามาแล้วจะสามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสม ไม่ขาดทุน เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้ครอบคลุมมากขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการป้องกันการสวมสิทธิ์จากพ่อค้าหรือนายทุนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรใหม่ โดยจะทราบข้อมูลของเกษตรกรว่ามีที่ทำกินเท่าไร เพาะปลูกพืชชนิดใดบ้าง แล้วจะมีผลผลิตประมาณเท่าไร" โฆษกกระทรวงเกษตรฯ ย้ำชัด
ด้าน อรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวระหว่างการสัมมนาโครงการ ประกันราคาสินค้าเกษตร ปีการผลิต 2552/2553 (ข้าวนาปี มันสำปะหลัง และข้าวโพด เลี้ยงสัตว์) เมื่อวันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ 3 ตัวมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ จากการดูตัวเลขปรากฏว่าเกษตรกรยังมาขึ้นทะเบียนกันน้อยมาก ฉะนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรจะประชาสัมพันธ์ไปทั่วประเทศเพื่อให้เกษตรกรไป ขึ้นทะเบียนและนำใบขึ้นจดทะเบียนเพื่อเป็นหลักฐานให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต่อไป
แจงขั้นตอนการขึ้นทะเบียนพืชเกษตร
เมื่อเกษตรกรมายื่นคำร้องขอขึ้นทะเบียนการปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ตัว (ข้าว ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง) แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแจ้งวันที่จะปิดประกาศรายชื่อผู้ยื่นคำร้องและทำ เวทีประชาคมให้เกษตรกรทราบด้วย เพื่อให้เกษตรกรที่มายื่นนำร้องขอขึ้นทะเบียนจะต้องมาแสดงตนในการรักษา สิทธิ์ของตนที่ยื่นคำร้องไว้ว่าเป็นเกษตรกรผู้ปลูกพืชในพื้นที่นั้นจริง และเป็นที่รับรู้ของชุมชน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะต้องจัดพิมพ์รายชื่อเกษตรกรที่มายื่นคำร้อง พร้อมปิดประกาศ 3 วันในระหว่างนี้คณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลจะต้องตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ตามที่แจ้งในผังขั้นตอนการขึ้นทะเบียนการปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด
จากนั้นจัดทำเวทีประชาคม บุคคลที่ร่วมในการทำเวทีประชาคม ได้แก่ เกษตรกรผู้ยื่นคำร้องขอขึ้นทะเบียนการปลูกพืช เกษตรกรข้างเคียงในหมู่บ้าน เกษตรอาสา เกษตรหมู่บ้าน และคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบล เป็นต้น ถ้ามีเกษตรกรแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ถูกคัดค้าน คณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลจะต้องตรวจสอบพื้นที่จริงทุกราย สำหรับกลุ่มที่ไม่ถูกคัดค้านจะตรวจสอบพื้นที่จริงร้อยละ 10 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่ไม่ถูกคัดค้าน ถ้าพบว่ามีการแจ้งข้อมูลเท็จก็จะเพิกถอนสิทธิ์ของเกษตรกรรายนั้นทันที
หลังจากนั้นก็จะปิดประกาศผลรับรองการขึ้นทะเบียนการปลูกพืชที่สำนักงาน เกษตรอำเภอ, ศบกต.หรือที่ชุมชนในหมู่บ้าน ลงชื่อรับรองกำกับการรับรองผลโดยคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบล และจัดพิมพ์รายงานผลการรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นรายแปลงให้เกษตรกร โดยเกษตรอำเภอหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ออกใบรับรองเป็นนายทะเบียน สุดท้ายเกษตรกรนำใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนไปทำสัญญาเพื่อเข้าร่วมโครงการ ประกันราคาสินค้าเกษตรกรกับ ธ.ก.ส.ต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 24 สิงหาคม 2552
http://www.komchadluek.net