เร่งขยายตลาดผลไม้ในต่างแดน แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 52
เร่งขยายตลาดผลไม้ในต่างแดน แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด
ช่วงนี้มีผลไม้ออกมาสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เงาะ มังคุด ลำไย ลองกอง ซึ่งล้วนแต่มีผลผลิต ออกมามากกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกมาตรการหลายด้านในการแก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาดไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรได้พอสมควร
ในช่วงต้นฤดูกาลที่ผลไม้ชนิดต่าง ๆ จะออก กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาผลไม้ล้นตลาดออกมาหลายมาตรการ เช่น มาตรการกระจายผลผลิตออกสู่แหล่งผลิตไปสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศและที่สำคัญคือ มาตรการส่งเสริมการตลาดและบริโภคผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศด้วยแล้วยิ่งต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้รู้จักผลไม้ ไทยมากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดสั่งซื้อจะได้เป็นการระบายผลผลิตไม่ให้กระจุกตัวในประเทศ ซึ่งไม่เพียงเท่านั้นยังช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ พร้อมคณะได้เดินทางไปประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือถึงเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย เกี่ยวกับความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งจากการไปอินโดนีเซียในครั้งนี้พบว่า ถึงแม้อินโดนีเซียจะผลิตข้าว ได้ปริมาณมากแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรในประเทศที่มีกว่า 240 ล้านคน จึงมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงคนในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของสินค้าผลไม้แล้ว ตลาดอินโดนีเซียมีความต้องการผลไม้จากประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ภายใต้แบรนด์ บางกอก ฟรุต เพราะผู้บริโภค ชาวอินโดนีเซียจะมีความเชื่อถือว่าเป็นผลไม้ที่มีคุณภาพ ซึ่งจำนวนประชากรของอินโดนีเซียไม่ต่ำกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 24 ล้านคน อยู่ในฐานะที่ร่ำรวยมีกำลังซื้อมาก จึงเป็นโอกาสอันดีของผลไม้ไทยที่จะไปขยายตลาดในอินโดนีเซียได้เป็นอย่างดี
ที่ผ่านมาไทยได้ส่งผลไม้ไปจำหน่ายในอินโดนีเซียอยู่แล้ว เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง แต่ก็ยังถือว่าเป็นตลาดที่ยังสามารถขยายการส่งออกได้อีกมาก ถ้ารัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำการเจรจาเปิดตลาดให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาผลไม้กระจุกตัวอยู่ในประเทศได้ดีขึ้น โดยเฉพาะลำไย ซึ่งผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียยังไม่ค่อยรู้จักและไม่เคยรับประทาน จึงเป็นหนทางที่ดีที่เราจะผลักดันผลผลิตลำไยไปยังตลาดอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นจากตลาดเดิม ๆ ที่เราเคยส่งอยู่
“ถ้าเราจะเปิดตลาดผลไม้ไปอินโดนีเซีย จะต้องศึกษาเรื่องระบบโลจิสติกส์ให้ดี เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีภูมิประเทศเป็นเกาะจำนวนมาก ทำอย่างไรจึงจะส่งสินค้าและกระจายไปตามเกาะต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตให้ถึงมือผู้บริโภคได้ทันเวลา ที่สำคัญการจะผลักดันสินค้าเกษตรของไทยเข้าประเทศเขาจำนวนมาก ต้องเตรียมเรื่องการถูกกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะเรื่องฟู้ดเซฟตี้ ดังนั้น จึงอยากฝากให้เกษตรกรรักษามาตรฐานการผลิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตัวเกษตรกรเองด้วย” นายอภิชาตกล่าว
จากความพยายามของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะหาตลาดในต่างแดนที่จะรองรับผล ผลิตทางการเกษตรที่ออกมามากมายในช่วงนี้ นับเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเกษตรกรไทย ดังนั้น ตัวเกษตรกรเองก็ต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าของตัวเองเป็นอย่างดี เพื่อความยั่งยืนในอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 สิงหาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=15961
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า