ดันนักวิจัยขยายพันธุ์ปลาบู่ ปั้นเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 52
ดันนักวิจัยขยายพันธุ์ปลาบู่ ปั้นเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่
เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับเกษตรกรอีกแล้ว ที่ขณะนี้กรมประมงมีนโยบายให้นักวิชาการศึกษาและวิจัยทดลองขยายพันธุ์
ปลาบู่ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพสำหรับประชาชน อันจะนำรายได้ที่มั่นคงมาสู่ครอบครัว เนื่องจากปลาบู่เป็นที่ต้องการของตลาดไฮเปอร์ มาร์เกต ในประเทศและตลาดต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน เพราะเป็นปลาเนื้อขาวที่มีรสชาติอร่อย เนื้อนุ่มฟู เหนียว ไม่เละ เฉกเช่นเดียวกับปลาสำลี จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ปลาบู่ มีราคาแพงมาก ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 500-700 บาทต่อกิโลกรัม จึงมีแค่เพียงผู้ที่มีกำลังซื้อสูงเท่านั้นถึงจะได้รับประทาน ส่วนใหญ่นิยมรับประทานกันแบบนำปลาเป็น ๆ ไปประกอบอาหารในภัตตาคารจีน เรียกว่าขึ้นเหลาเท่านั้นถึงได้ลิ้มรส
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง พูดถึงเรื่องนี้ว่า การที่ปลาบู่มีราคาสูงมากนั้นเนื่องจากปัจจุบันปลาที่มีขายกันอยู่นั้นเป็นปลาที่จับได้จากธรรมชาติทั้งสิ้น ถึงแม้ว่ากรมประมงจะประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบู่และปล่อยลงสู่ แหล่งน้ำธรรมชาติแล้วก็ตาม แต่สำหรับการอนุบาลลูกปลาบู่วัยอ่อนให้มีชีวิตรอดนั้นยังมีจำนวนไม่มากพอที่จะสามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้ จึงไม่มีวัตถุดิบป้อนสู่ตลาดได้ตามความต้องการ ด้วยเหตุนี้เองจึงได้สั่งการให้นักวิชาการประมงศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อย่างจริงจัง กล่าวคือ ในระยะแรกภายใน 9 เดือนข้างหน้ามีเป้าจะผลิตลูกปลาบู่ให้ได้ 100,000 ตัว และมีแผนจะปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติก่อน โดยในช่วงประมาณปลายเดือนสิงหาคมนี้จะนำร่องปล่อยพันธุ์ปลาบู่ที่เพาะได้ก่อนหน้านี้ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ในโครงการฟื้นฟูพันธุ์ปลาไทยตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษาด้วย หลังจากประสบผลสำเร็จในเรื่องนี้แล้วก็จะเผยแพร่ความรู้สู่เกษตรกรต่อไปให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ นอกจากนั้นหากมีผู้เพาะเลี้ยงปลาบู่เพิ่มขึ้นและปริมาณผลผลิตมากขึ้นเพียงพอ ต่อความต้องการของตลาดราคาก็คงจะลดลงทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อหามารับประทานได้ง่ายขึ้น ทั้งยังสามารถส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างดีทีเดียว โดยเฉพาะการส่งออกในรูปแบบของปลาที่ยังมีชีวิต ที่สำคัญอย่างยิ่งจะเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนอีกด้วย
นายสมหวัง พิมลบุตร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ได้กล่าวเสริมให้เราได้รู้จักปลาบู่กันมากขึ้นว่า
ปลาบู่เป็นปลาที่มีลักษณะลำตัวกลมยาว หัวค่อนข้างโต และด้านบนของหัวแบนราบ หัวมีจุดสีดำประปราย ปากกว้างใหญ่เปิด มีฟันแหลมซี่เล็ก ๆ ลูกตาโปน กลม รูจมูกคู่หน้าเป็นหลอดยื่นขึ้นมาอยู่ติดกับร่องที่แบ่งจะงอยปากกับริมฝีปากบน ครีบหูและครีบหางมีลักษณะกลมมนใหญ่ มีลวดลายดำและสลับขาว ส่วนของครีบมีลายสีน้ำตาลดำ แดงสลับขาวเป็นแถบ ๆ และมีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วไป ลำตัวมีเกล็ดแบบหนามคล้ายซี่หวีและมีแถบสีดำขวางลำตัว 4 แถบ ด้านท้องมีสีอ่อน โดยทั่วไปจะมีขนาดใหญ่ประมาณ 30 เซนติเมตร แต่เคยมีผู้เคยพบยาวถึง 60 เซนติเมตร จัดเป็นปลา 2 น้ำ อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าทำไมในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยถึงมีการแพร่ กระจายพันธุ์ของปลาชนิดนี้ ประกอบกับปลาบู่เป็นปลากินเนื้อ เช่น กุ้งฝอย ลูกปลาเล็ก ๆ จึงทำให้สามารถเจริญเติบโตได้ดี อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 1 กิโลกรัมต่อปี และที่พิเศษคือ ปลาบู่สามารถที่จะอยู่บนบกได้ทนนาน จึงมีการส่งออกปลาบู่ไปต่างประเทศแบบที่มีชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ได้ราคาดี เพราะตรงกับความต้องการของลูกค้าคือ นิยมบริโภคแบบปรุงสดมากกว่าแบบแช่แข็ง หรือแปรรูป
แม้ปลาบู่จะเป็นปลาที่ขายได้ราคาดีเพียงใดก็ตามก็มีเกษตรกรน้อยรายที่จะหันมาลงทุนเพาะเลี้ยง เนื่องจากโอกาสในการรอดชีวิตของลูกปลานั้นมีน้อย จึงไม่คุ้มค่ากับการเสี่ยงที่ต้องลงทุน ดังนั้นหากนโยบายที่ท่านอธิบดีฯ ได้ดำริให้ดำเนินการประสบความสำเร็จ ปลาบู่อาจเป็นปลาเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้จริงหรือไม่เรื่องนี้ต้องคอยดูกันต่อไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 สิงหาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=347&contentID=16249
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า