กรมการข้าวเร่งเอกซเรย์พื้นที่ระบาดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 52
กรมการข้าวเร่งเอกซเรย์พื้นที่ระบาดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมการข้าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับผลกระทบจาก
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการป้องกันและกำจัด เป็นการด่วน
ทั้งนี้ นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าวเปิดเผยว่า จากรายงานของศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ข้าว กรมการข้าวพบว่า ในขณะนี้ได้มีการตรวจพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างรุนแรงในเขตภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วยจังหวัดอ่างทอง สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อุทัยธานี นครสวรรค์และจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวเป็นอย่างมาก คาดว่ามีพื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า 700,000 ไร่
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถทำลายต้นข้าวได้ในทุกระยะของการเจริญเติบโต โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองเหี่ยว คล้ายน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อม ๆ และขยายเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะของโรคใบหงิกมาสู่ต้นข้าว“ในขณะนี้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นห่วงถึงเรื่องนี้ และได้กำชับให้กรมการข้าวร่วมกับกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วน” นายประเสริฐ กล่าว
อธิบดีกรมการข้าวเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีความสามารถสูงในการเพิ่มประชากร ถ้าหากชาวนา ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงไม่ถูกวิธีจะส่งผลให้มีการระบาดเพิ่มขึ้น ดังนั้นในเบื้องต้นชาวนาในพื้นที่ดังกล่าว
ควรเร่งสำรวจแปลงนาของตนเอง หากพบว่ามีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในปริมาณ 1 ตัวต่อต้น จึงจะใช้สารฆ่าแมลงตามคำแนะนำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เพราะจะทำลายศัตรูธรรมชาติ แต่ถ้าหากพบว่ามีศัตรูธรรมชาติ เช่นแมงมุม มวนเขียวดูดไข่ และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในอัตราส่วน 1:5 ไม่ต้องใช้สารเคมีควรปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตามปกติ นอกจากนี้ชาวนาไม่ควรใช้ปุ๋ยยูเรีย (46%N) มากเกินไป เพราะจะส่งผลให้ต้นข้าวอ่อนมีน้ำมาก เพลี้ยจะชอบดูดกิน อีกทั้งควรที่จะมีการควบคุมระดับน้ำ โดยให้มีการระบายน้ำออกจากแปลงนาเป็นระยะเวลา 7-10 วัน เพื่อปรับสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมกับตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและให้ใช้เชื้อราบิวเวอเรียเพื่อควบคุม กำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
สำหรับการให้ความช่วยเหลือในขณะนี้กรมการข้าวได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบทุกคนติดตามสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างใกล้ชิดและ ให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวนาได้ทราบ พร้อมประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าไปสำรวจตรวจสอบพื้นที่การระบาด ให้คำแนะนำการป้องกันกำจัด อีกทั้งยังได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานเกษตรอำเภอผลิตเชื้อราบิวเวอเรียเพื่อแจกจ่ายให้ชาวนาด้วย
ชาวนาที่มีข้อสงสัยให้สอบถามรายละเอียด ได้ที่หน่วยงานของกรมการข้าวได้แก่ศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
สำหรับการรณรงค์ป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในขณะนี้ กรมการข้าวได้จัดงานรณรงค์การป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและการผลิตข้าวเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ในวันที่ 3 กันยายน 2552 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลไผ่กองดิน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวนาให้ความสำคัญและร่วมมือในการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 สิงหาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=16397
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า