ชูระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ บรรเทาภาวะโลกร้อนของภาคเกษตร
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 52
ชูระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ บรรเทาภาวะโลกร้อนของภาคเกษตร
ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ดังนั้นสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่อาจมองข้าม เพราะภาวะโลกร้อนได้ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ของการกระจายความถี่ และปริมาณ ส่งผลให้บางพื้นที่เกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วมที่รุนแรง บางพื้นที่เกิดภัยแล้งที่ยาวนานและซ้ำซาก และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น โดยในช่วงปี 2534-2543 ความเสียหายในภาคเกษตรกรรมที่เกิดจากน้ำท่วมและภัยแล้ง มีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านบาท
เนื่องด้วยการเกษตรของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการเกษตรที่พึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก ภัยจากน้ำท่วม คลื่นความร้อน และการขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงภาวะความแห้งแล้งอันนำไปสู่ภาวะการเป็นทะเลทราย อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อผลผลิตการเกษตร
นอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศแล้ว การทำเกษตรกรรมโดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมถึงการปล่อยให้พื้นที่เสื่อมโทรมตลอดระยะเวลาการทำเกษตรและไม่ให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูบำรุงสภาพดินนับเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ ดินเสื่อมโทรม เป็นผลให้ประเทศไทยถูกกระตุ้นเข้าสู่การให้เป็นทะเลทรายเร็วยิ่งขึ้น
มาตรการในการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นมาตรการหนึ่งที่กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน และรักษาสิ่งแวดล้อม การดำเนินการใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำนี้ ช่วยผ่อนปรนความรุนแรงและชะลอความเป็นทะเลทรายในแต่ละภูมิภาคลงได้ นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยรักษาความสมดุลให้กับระบบนิเวศและช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า นอกจากการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำแล้ว กรมพัฒนาที่ดินยังได้จัดกิจกรรมรณรงค์ลดเผาตอซังเศษพืช โดยให้หันมาใช้วิธีไถกลบแทน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็ว ในพื้นที่ทิ้งร้าง พื้นที่สาธารณะ และโรงเรียน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เนื่องจากต้นไม้ช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากักเก็บไว้ในดิน ไม่ให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน จากข้อมูลของกรมป่าไม้พบว่าการปลูกป่าทั้งป่าละเมาะจนถึงป่าดิบชื้น สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่าง 16 ตัน CO2/ ไร่/ปี-52.8 ตัน CO2/ไร่/ปี
นอกจากนี้ ยังพบสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของภาคเกษตรอีกอย่างหนึ่งคือ การใส่ปุ๋ยเคมีมากเกินไป ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้ทำโปรแกรมดินไทยและธาตุอาหารพืช ที่สามารถช่วยประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินเบื้องต้นของเกษตรกรเป็นรายแปลงได้ทันที ว่ามีธาตุอาหารอะไรบ้าง มีปริมาณเท่าไร ถ้าจะปลูกพืชชนิดใดควรจะใส่ปุ๋ยในปริมาณเท่าใด จึงจะเหมาะสม ซึ่งช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องใส่ปุ๋ย ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่พืชต้องการ วิธีนี้ไม่เพียงช่วยลดสาเหตุของการปลดปล่อยก๊าซของภาคเกษตรได้แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรได้ด้วย
“ถึงแม้ภาคเกษตรของไทยไม่ได้เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเกินมาตรฐาน แต่การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ได้เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่งหรือของเกษตรกรเท่านั้น เนื่องจากเมื่อผลกระทบที่เกิดขึ้นทุกคนจะต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ทุกฝ่ายควรร่วมมือร่วมใจกันลดกิจกรรมที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดก๊าซ เรือนกระจก” รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าว
วิธีง่าย ๆ ที่จะสามารถช่วยลดโลกร้อนได้คือ ลดการตัดไม้ทำลายป่า และช่วยกันปลูกต้นไม้เพียงคนละ 1 ต้นก็ยังดี เท่านี้ก็ถือว่าท่านได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนได้แล้ว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 สิงหาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=17129
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า