สกัดสารต้านอนุมูลอิสระจากกากรำข้าว
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 52
สกัดสารต้านอนุมูลอิสระจากกากรำข้าว
ประเทศไทยมีพื้นที่การทำนาประมาณ 66 ล้านไร่ แบ่งเป็นนาปีประมาณ 57 ล้านไร่ นาปรังประมาณ 9 ล้านไร่ ได้ผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 24 ล้านตันต่อปี สีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 14 ล้านตัน โดยมีผลพลอยได้ซึ่งเป็นรำข้าวประมาณ 2.28 ล้านตัน ทั้งนี้รำข้าวส่วนหนึ่งจะถูกนำไปสกัดน้ำมัน ส่วนกากรำข้าวที่เหลือจากการสกัดน้ำมันรำข้าวจะถูกจำหน่ายไปเป็นส่วนผสมของ อาหารสัตว์จึงทำให้มีราคาถูก ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.ศุภวรรณ ถาวร ชินสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จึงศึกษาหาแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกากรำข้าวโดยเลือกศึกษาในรำข้าวหอมมะลิ เนื่องจากมีโปรตีนซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จากการศึกษาดังกล่าว นักวิจัย มข.สามารถสกัดเปปไทด์ซึ่งเป็นกรดอะมิโนจากโปรตีน มีคุณสมบัติเป็นสารช่วยลดความดันและต้านอนุมูลอิสระได้ โดยเบื้องต้นทดลองนำมาผลิตในรูปแบบผงละลายน้ำหรือเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มต่าง ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ อาทิ น้ำนมถั่วเหลือง น้ำข้าวกล้อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังทดลองผลิตเป็นผงบรรจุในแคปซูลสำหรับคนที่รักสุขภาพสามารถรับประทานได้ทันทีอีกด้วย
ผลจากการศึกษาครั้งนี้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรำข้าวได้ไม่น้อยทีเดียว ทั้งนี้ หากจำหน่ายกากรำข้าวเพื่อเป็นส่วนผสมในอาหาร สัตว์จะขายได้ที่ราคาเพียงกิโลกรัมละ 6-8 บาท เท่านั้น แต่เมื่อนำมาสกัดเพื่อให้ได้เปปไทด์จากโปรตีนรำข้าว เปปไทด์ที่ได้จะมีราคาถึงกิโลกรัมละ 1,000-2,000 บาทเลยทีเดียว โดยจากการศึกษากากรำข้าว 1 กิโลกรัม สามารถสกัดเปปไทด์ได้ประมาณ 5% ของน้ำหนัก
ผศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าวถึง ขั้นตอนการสกัดเปปไทด์ จากโปรตีนรำข้าวหอมมะลิว่า ขั้นแรกต้องนำรำข้าวมาสกัดน้ำมันออกก่อน จากนั้นจึงนำไปสกัดโปรตีนรำข้าว โดยใช้สภาวะเป็นด่าง (pH 11) จะได้โปรตีนรำข้าว เสร็จแล้วนำไปผสมน้ำในอัตราส่วน น้ำ : โปรตีน เท่ากับ 4 : 1 จากนั้นนำมาปรับสภาพให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ที่เอนไซม์ในการย่อยโปรตีนจะทำงาน คือ ค่า pH 8 อุณหภูมิประมาณ 55 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการย่อยสลายประมาณ 4 ชั่วโมง เสร็จแล้วนำมาแยกโดยการกรอง จะได้สารละลายที่มีองค์ประกอบของเปปไทด์ต่อจากนั้นจึงนำสารละลายมาทำแห้งแบบละเหิด จะได้ผงสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลิ่น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น การผลิตเป็นอาหารเสริมสุขภาพ การผสมในอาหาร และเครื่องดื่มต่าง ๆ เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการอันจะส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการควบคุมความดันและการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นของเปปไทด์จากโปรตีนรำข้าว
“คนที่เป็นโรคความดัน ต้องรับประทานยาซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ทุกวันต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลายาวนาน ดังนั้น จึงอาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น อาการระคายคอ ไอแห้ง และจากการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องดังกล่าวอาจส่งผลให้ตับต้องทำงานหนักขึ้น ดังนั้น หากเปลี่ยนมารับประทานเปปไทด์โปรตีนจากกากรำข้าวเป็นอาหารเสริมแทนจะช่วยให้หลีกเลี่ยงยาสังเคราะห์ได้ สุขภาพร่างกายก็จะดีขึ้น นอกจากนี้ เปปไทด์ที่ได้จากการสกัดโปรตีนรำข้าวยังมีคุณสมบัติเป็นสารช่วยต้านอนุมูลอิสระอันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งอีกด้วย”ผศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าว
ผศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าวอีกว่า ผลการวิจัยในครั้งนี้ เป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ดังนั้น ต้นทุนในการผลิตจึงสูง อย่างไรก็ดี หากมีการผลิตในเชิงพาณิชย์ หรือ ผลิตในปริมาณ มากจะทำให้ต้นทุนถูกลงได้ โดยขณะนี้ได้เสนอผลงานศึกษาวิจัยดังกล่าวต่อผู้ประกอบการผลิตน้ำมันรำข้าวซึ่งมีความสนใจใน การใช้ประโยชน์โปรตีนจากกากรำข้าวที่เหลือจากการสกัดน้ำมัน ซึ่งแต่เดิมผู้ประกอบการมีการนำกากรำข้าวที่ เหลือจากการสกัดน้ำมันไปผลิตเป็นอาหารสัตว์เท่านั้น นอกจากนี้ ยังเสนอผลการวิจัยไปยังกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งสนใจจะนำโปรตีนจากกากรำข้าวไปผสมในอาหารเพื่อเสริมคุณค่าทางโภชนาการ หรือเป็นอาหารสุขภาพ โดยขณะนี้กำลังศึกษาแนวทางผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร. 0-4336-2006 หรือ ผศ.ดร.ศุภวรรณ ถาวรชินสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี มข. โทร.0-4336-2132 ในวันเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 สิงหาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=17130
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า