เลียบ 'สวนยางพารา' ยโสธร จับตา 'เสือเศรษฐกิจ' ตัวใหม่
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 52
เลียบ 'สวนยางพารา' ยโสธร จับตา 'เสือเศรษฐกิจ' ตัวใหม่
"ยโสธร’’ จังหวัดเล็ก ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี “ข้าวหอมมะลิ” เป็นพืชเศรษฐกิจชูโรงสำคัญ เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกมากเกือบ 5 แสนไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 8 แสนไร่ ขณะที่ “เกษตรอินทรีย์” ก็ถูกผลักดันให้เป็นยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญของจังหวัด
แต่ท่ามกลางการผลักดันสินค้าข้าวและเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด ยังมีเกษตรกรกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่แยกตัวหันมาประกอบอาชีพสวนยางพารา ภายใต้ความหวังว่า “ยางพารา” ที่พวกเขาลงทุนลงแรงปลูกจะกลายเป็น “เสือ” ตัวใหม่ที่ช่วยผลักดันปัญหาความยากจนให้พ้นไปจากครอบครัวของตัวเอง โดยเฉพาะภายหลังจากการเข้ามาของ “โครงการยางล้านไร่” นั่นเอง
ความจริงในพื้นที่ จ.ยโสธร มีการส่งเสริมการปลูกยางพารามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ผ่านโครงการอีสานเขียว จากนั้นจึงมีโครงการตามมาตรา 21 ทวิ ของ สกย. ที่เข้ามารับผิดชอบการสนับสนุนโดยตรง กระทั่งในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2547-2549 จึงมีโครงการสนับสนุนการปลูกยางพาราออกมาไล่เลี่ยกัน 2 โครงการ คือ โครงการภายใต้งบประมาณผู้ว่าซีอีโอในขณะนั้น และโครงการยางล้านไร่
ทั้งนี้ในส่วนของโครงการยางล้านไร่ ซึ่งถือเป็นโครงการใหญ่และได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล สำหรับ จ.ยโสธร มีเกษตรกรเข้าร่วม 2,183 ราย พื้นที่รวม 12,134 ไร่ ใน 7 อำเภอ ได้แก่ อ.กุดชุม อ.ทรายมูล อ.ไทยเจริญ อ.ป่าติ้ว อ.เมือง อ.เลิงนกทา และ อ.คำเขื่อนแก้ว อย่างไรก็ตาม ใน อ.คำเขื่อนแก้ว มีชาวบ้าน 6 ตำบลเท่านั้นที่เข้าร่วมโครงการ คือ ต.ดงแคนใหญ่ ต.ทุ่งมน ต.นาแก ต.โพนทัน ต.ลุมพุก และ ต.เหล่าไฮ่
แม้เวลานี้สถานการณ์ยางพาราจะยังไม่มีความแน่นอน แต่เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่คิดว่า หากราคายังอยู่ที่ระดับกิโลกรัมละ 50 บาทขึ้นไป พวกเขาก็อยู่ได้ นอกจากนี้จากการพัฒนาระบบการขนส่งโดยเฉพาะการเปิดใช้เส้นทางหมายเลข 9 (R9) เชื่อมจาก จ.หนองคาย ของไทย ผ่านประเทศลาว เวียดนาม ซึ่งมีช่องทางทะลุถึงประเทศจีนที่เป็นผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ของโลก จึงทำให้เกษตรกรในพื้นที่ยิ่งเชื่อมั่นว่า ยางพาราที่พวกเขาปลูกจะเป็นพืชที่มีอนาคตและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับพวกเขาได้อย่างแน่นอน
ป้าเสงี่ยม ผ่องใส วัย 57 ปี ชาวบ้าน หมู่ 4 ต.ขั้นบันได อ.เมืองยโสธร ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่หันมายึดอาชีพปลูกสวนยางพาราตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เล่าว่า เดิมมีอาชีพทำนามาตั้งแต่เด็ก โดยสลับไปปลูกปอและมันสำปะหลังตามกระแสของเกษตรกรคนอื่น ๆ แต่ที่สุดก็ต้องพบว่าไม่มีอาชีพไหนที่จะสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ได้
กระทั่งปี พ.ศ. 2536 สกย. ประกาศคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกยางพารา โดยให้การช่วยเหลือทั้งกล้ายางและค่าปุ๋ยไร่ละ 4,000 บาท พร้อมกับมีการนำไปอบรมเรื่องการปลูกและการดูแลอย่างถูกวิธี ขณะเดียวกันก็มีการส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง จึงตัดสินใจลองเข้าร่วมโครงการดู คิดว่าถ้ากรีดยางไม่ได้จริง ๆ ก็คงพอจะขายไม้ยางได้บ้าง แต่มาถึงวันนี้ก็ยิ่งมั่นใจ และดีใจที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพราะทุกวันนี้ครอบครัวของป้ามีรายได้ดีกว่าตอนปลูกข้าวเยอะเลย
จากบทเรียนที่สามารถทำรายได้จากการปลูกยางเพียง 8 ไร่ ในตอนเริ่มต้น ป้าเสงี่ยม กับ ลุงประมวล ผู้เป็นสามี จึงตัดสินใจสมัครขอเข้าร่วมโครงการยางล้านไร่ทันทีที่มีการประกาศรับสมัคร เกษตรกร โดยขยายพื้นที่ปลูกของตัวเองออกไปอีก 15 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน ป้าเสงี่ยม บอกว่า สวนยางของแกมีการเจริญเติบโตดี ต้นตรง สวย แตกใบดี
“ก่อนนี้ถ้าใครมาขอซื้อที่ดินของป้า ป้าก็คงขาย แต่เดี๋ยวนี้ป้าไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย มีแต่คิดจะซื้อที่มาปลูกยางเพิ่ม ให้เป็นสมบัติของลูกหลานได้เก็บกินไปนาน ๆ พวกเขาจะได้สบาย ไม่ลำบากไปหางานทำที่อื่น” ป้าเสงี่ยม เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี ซึ่งแม้ตัวของป้าเสงี่ยมอาจจะ ไม่จริงจังกับเรื่องเล่าในตอนท้ายของแกนัก แต่เรื่องดังกล่าวก็สะท้อนถึง “ความเปลี่ยน” ที่เกิดกับตัวป้าเสงี่ยมเองอย่างชัดเจน
เพราะจากสถานะเพียงแค่เกษตรกรที่ต้องปากกัดตีนถีบ เปลี่ยนอาชีพไปเรื่อยไปสร้างความมั่นคงให้ตัวเองและครอบครัว แต่วันนี้ “ป้าเสงี่ยม” อาจจะไม่ต้องคิดถึงเรื่องเหล่านั้นอีกแล้ว ตรงข้ามกลับมองไปไกลถึงการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตลูกหลาน ให้ทุกคนยืนอยู่ได้บนพื้นที่การเกษตรของตัวเอง
นี่เองจึงทำให้น่าจับตาว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ภายหลังจากสวนยางในโครงการยางล้านไร่สามารถเปิดกรีดได้แล้ว “ยางพารา” จะกลายเป็น “เสือ” ตัวใหม่ที่พาชีวิตชาวสวนยางทั้งในยโสธรและภาคอีสาน ให้สามารถโจนทะยานพ้นจากความยากจนได้หรือไม่.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=17315
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า