เมื่อวันที่ 3 กันยายน 52
ที่ผ่านมา เกษตรกรมักจะใส่ปุ๋ยเคมีมากเกินไป หรือบางครั้งก็เกินความจำเป็นที่พืชและดินต้องการ เนื่องจากในดินมักจะมีธาตุอาหารสะสมอยู่ แต่ก็มีธาตุอาหารจำนวนมากที่ถูกตรึงไว้ในดินแต่พืชไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดินจึงหาวิธีที่จะช่วยละลายธาตุอาหารต่างๆ ที่อยู่ในดินให้กลับมาเป็นประโยชน์ต่อพืชได้อีกครั้ง โดยล่าสุดกรมพัฒนาที่ดินได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ ที่ผ่านการทดลองจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และกรมฯ เตรียมที่จะแจกจ่ายให้เกษตรกรได้นำไปทดลองใช้ในเร็วๆ นี้
นาย ฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินเตรียมที่จะเปิดตัวโรงผลิตปุ๋ยและฮอร์โมนในดิน หรือ ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ในต้นปีงบประมาณ 2553 เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกร เนื่องจากเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหารหรือช่วยให้ธาตุอาหาร เป็นประโยชน์กับพืช เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และสร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งประกอบด้วยจุลินทรีย์ 4 ประเภท
ประกอบ ด้วย 1.จุลินทรีย์ที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศและเปลี่ยนให้เป็นรูปแอมโมเนียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืช 2.จุลินทรีย์ที่เพิ่มการละลายของหินฟอสเฟต และช่วยปลดปล่อยฟอสฟอรัสที่ถูกตรึงไว้ในดินให้พืชสามารถดูดมาใช้ประโยชน์ได้ 3.จุลินทรีย์ที่ช่วยละลายและปลดปล่อยพแทสเซียมที่ถูกตรึงไว้ให้มาใช้ประโยชน์ได้ 4.ฮอร์โมนพืช ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญงอกของเมล็ด ส่งเสริมการเจริญของรากพืช ทำให้พืชสามารถดูดน้ำและธาตุอาหารเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้ใช้เวลาทดสอบ ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 มาเป็นระยะเวลา 2 ปี ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งจากการทดลองใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ร่วมกับปุ๋ยเคมี ในข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน และผักกะหล่ำปลี ปรากฏว่านอกจากจะลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ไม่ต่ำกว่า 50% แล้ว ที่สำคัญยังสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ 5-15%
โดยข้าวหอมมะลิ ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 369 บาท/ไร่ ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น 3% ส่วนข้าว กข. ลดปุ๋ยเคมีได้ 369 บาท/ไร่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น 8% สำหรับมันสำปะหลัง สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีลงได้ 222 บาท/ไร่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น 15% รวมทั้งเปอร์เซ็นต์แป้งเพิ่มขึ้น 1.6% หรือเพิ่มจาก 30.6 เป็น 32.2% ส่วนข้าวโพดหวานนั้นลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีลงได้ระหว่าง 179-394 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 4-7% ขณะที่ผักกะหล่ำปลี สามารถลดต้นทุนได้ 179-394 บาท/ไร่ แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 15%
" การใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ร่วมกับปุ๋ยเคมี สามารถทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19 กก./ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 560 บาท/ไร่ ส่วนผลผลิตข้าว กข.เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 53 กก./ไร่ รายได้เพิ่มขึ้น 910 บาท/ไร่ ซึ่งในปีงบประมาณ 2553 กรมฯ จะผลิตปุ๋ยชีวภาพ พด.12 จำนวน 4 แสนซอง แจกจ่ายสู่เกษตรกร หมอดินอาสาและกลุ่มเครือข่ายลดการใช้ปุ๋ยเคมี/เกษตรอินทรีย์ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการช่วยฟื้นฟูทรัพยากรดินที่ผ่านการใช้เคมีมายาวนานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เพราะที่ผ่านมา การผลิตปุ๋ยเคมีจะผลิตในโรงผลิตปุ๋ยบนดิน ใช้งบประมาณหลายล้านบาทต่อหนึ่งโรง โดยนำวัตถุดิบมาผลิตแล้วจึงใส่กลับลงไปในดิน แต่วิธีนี้เป็นการสร้างโรงผลิตปุ๋ยในดิน คือ เราใช้จุลินทรีย์ใส่ลงไปในดินทำหน้าที่ผลิตปุ๋ยและปลดปล่อยและละลายธาตุ อาหารที่ถูกตรึงไว้ในดิน แล้วพืชก็จะทำหน้าที่ดูดไปใช้งานเอง เป็นการประหยัดงบประมาณ และช่วยลดขั้นตอนให้กับเกษตรกรด้วย" นายฉลอง กล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 แล้ว กรมพัฒนาที่ดินยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ เพราะกรมฯ ยังมีการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จุลินทรีย์โดยวิธีทางชีวโมเลกุล เพื่อพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ทั้ง 4 กลุ่มข้างต้น ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มจุลินทรีย์ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนและฮอร์โมน หากสำเร็จจะสามารถนำมาผลิตและแจกจ่ายให้เกษตรกรในปีต่อไป เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ ตลอดจนเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดินให้แก่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 3 กันยายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=177067