เมื่อวันที่ 3 กันยายน 52
มูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลก แต่ละปีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย ปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ และหากเข้าไปดูในห้างสรรพสินค้าต่างๆ สินค้าเกษตรอินทรีย์ก็จะมีราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปถึงสามเท่าตัวหรือ มากกว่านั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมมองเห็น โอกาสนี้ และพยายามที่จะปรับตัวเข้าไปสู่กระแสของสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเพื่อสุขภาพ
แต่คำถามก็คือเราจะก้าวไปอย่างไร ถ้าเราได้เปรียบในกระแสนี้ เราจะเดินไปอย่างไร จะปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ไปตลอด โดยมีเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และลาวเป็นคู่แข่งอย่างนั้นหรือ
ในการประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมระดับนานาชาติ Go...Organic 2009 เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2552 เป็นการประชุมที่จัดโดยสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่ผ่านมา ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมองเห็นเกษตรอินทรีย์ของไทยในเวทีโลกได้ชัดเจนขึ้น
ปัจจัยที่ผู้ประกอบการควรรู้ก็คือสินค้าเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะมีราคาดีในตลาดยุโรปอเมริกาและญี่ปุ่น แต่การจะได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ยากขึ้นทุกวัน เพราะมาตรฐานต่างๆ จะมีการปรับกฎเกณฑ์ทุกปีเพื่อให้ทันสมัย และมีกฎเกณฑ์เพื่อกีดกันทางการค้ามากขึ้นทุกปี
ในอีกปัจจัยหนึ่งที่ควบคู่กันก็คือในขณะที่สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นเทรนด์ แต่พื้นที่เพาะปลูกอาจจะน้อยลง เพราะพื้นที่ส่วนหนึ่งต้องถูกแบ่งปันเพื่อปลูกพืชพลังงาน
ในอีกทางหนึ่งก็มีแนวโน้มเช่นกันว่า ในขณะที่มาตรการต่างๆ มีการปรับให้ทันสมัย แต่ในอนาคตน่าจะผ่อนปรนลงด้วยเช่นกัน
คุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้จัดการโครงการด้านเกษตรอินทรีย์ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ สรุปภาพจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาทั้งในด้านของไทยที่ต้องรับมือกับกฎระเบียบ และเตรียมตัวสำหรับการเข้าสู่ตลาดเกษตรอินทรีย์ในอนาคต
แปรรูปเกษตรอินทรีย์คิดได้แล้ว
ตามที่ได้เกริ่นไว้ หากไทยยังยึดอยู่ที่การปรับความสมดุลในดินทำการเกษตรอินทรีย์เพื่อมูลค่า เพิ่ม ทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ สร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้งในไทยและส่งออก เช่น มาตรฐาน IFOAM จากสภาพันธุ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ก็ดูจะช้าไปหน่อย เพราะคู่แข่งที่สำคัญก็คือประเทศที่เป็นเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมไม่ใช้สารเคมี เช่น ลาว เวียดนามมาแรง ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ไทยควรจะมองข้ามชอตไปเลย ก็คือสินค้าแปรรูปจากเกษตรอินทรีย์ เช่น สแน็ก อาหารเสริม ขนม มีการพัฒนาไปค่อนข้างมากแล้ว แต่ก็ยังไม่พอเพียง
"เป้าที่สำคัญ คือเราไม่ควรที่จะขายแค่ของสด พืชเป้าหมายของคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ก็คือข้าว สมุนไพร ผัก และผลไม้ไทย หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน ซึ่งมีศักยภายที่จะมาแปรรูปได้ เราส่งของสดในบางส่วน แต่ผลผลิตในส่วนที่ขนาดยังไม่ได้มาตรฐาน เราก็นำมาแปรรูปทำอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ"
ส่วนผู้ที่จะแปรรูปหรือต่อยอดเกษตรอินทรีย์ในบ้านเรามีผลการศึกษาและรวบรวมฐานข้อมูลของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย พบว่าปัจจุบันงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผ่านมามีจำนวนเพียง 270 ชิ้น โดยเฉลี่ยมีงานวิจัยประมาณ 20-30 งานวิจัยต่อปีเท่านั้น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะเกิดโอกาสใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถที่จะนำมาต่อยอดได้อย่างถูกจุด
ตรวจสอบย้อนกลับในเกษตรอินทรีย์
นอกจากนี้ ในเวทีของการประชุมดังกล่าว ยังมีการพูดถึงมาตรฐานของการตรวจสอบย้อนกลับ ที่จะนำมาใช้ร่วมในสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วย
สินค้าเกษตรทั่วไป อาจจะเป็นแค่การระบุว่ามาจากประเทศอะไร ฟาร์มอะไร แต่การปรับมาเป็นการตรวจสอบแบบย้อนกลับสำหรับเกษตรอินทรีย์ จะต้องมาปรับในรายละเอียดต่างๆ อีกมาก
เช่น มาตรฐานสบู่อินทรีย์ต้องมีส่วนประกอบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีอะไรบ้างที่เป็นส่วนประกอบ ในกลุ่มเครื่องสำอางมีส่วนผสมที่ต้องมาดูมาปรับให้มีมาตรฐาน ตัวระบบมาตรฐานไทยเราก็ต้องเตรียมพัฒนาขึ้นมา ถ้าเราจะขายเนื้อหมูเกษตรอินทรีย์ เราไม่เคยมีมาตรฐานมาก่อน เราก็ต้องพัฒนาควบคู่กันขึ้นมาด้วย การแปรรูปสัตว์น้ำ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ต้องทำแผนระบบการพัฒนามาตรฐานการผลิต การแปรรูปที่สามารถรองรับกับมาตรฐานของยุโรปได้อีกด้วย
เกษตรอินทรีย์ไทยจะถูกกีดกันอะไรบ้าง
สิ่งที่เป็นประเด็นในการประชุมครั้งนี้ก็คือการใช้สารในการต้านแมลง IFOAM ได้มีการพูดถึง สารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในการฆ่าแมลง เช่น สะเดา
ซึ่งบ้านเราใช้ฆ่าแมลงตามธรรมชาติ แต่เนื่องจากว่าสะเดาเองไม่มีในยุโรป ทางยุโรปจึงมีการออกกฎระเบียบ ห้ามไม่ให้เราใช้สารจากสะเดาในการฆ่าแมลง รวมทั้งสมุนไพรไทยตัวอื่นๆ ด้วย
"ยาสูบป้องกันแมลง ต้นหนอนตายยาก พืชสมุนไพรไทยทั้งหลาย ห้ามเราใช้ทั้งหมด ซึ่งในปีนี้ ทางสำนักนวัตกรรมเองก็ได้เตรียมยื่นเรื่องรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ สะเดาและสมุนไพรไทยเพื่อเข้าไปเจรจาต่อรองในเวทีอีกด้วย"
ในส่วนของเมล็ดพันธุ์ที่มีการพูดกันมากคือสารเคมีที่นำมาใช้กันเชื้อรา เริ่มจากการใช้ในขั้นตอนการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ออกจำหน่าย ซึ่งที่ผ่านมาทาง IFOAM ได้ผ่อนผัน หรือปิดตาข้างหนึ่งมาตลอด แต่ในเวทีก็มีการพูดถึงกันอีกครั้ง โดยมีการระบุว่าภายในปี 2010 จะมีการตรวจสอบเรื่องเมล็ดพันธุ์อย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์ เป็นความพยายามที่ยากยิ่ง เพราะเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในมือของบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้การพูดคุยในประเด็นนี้เป็นโอกาสของคนที่คิดพัฒนาเมล็ดพันธุ์ปลอดสารในอนาคตอีกช่องทางหนึ่ง
รวมทั้งความคืบหน้าในการที่จะเชื่อมโยง มาตรฐานของยุโรป คือ IFOAM และการจัดตั้งตัวแทนของ IFOAM ในแต่ละประเทศ เพื่อที่จะออกมาตรฐานรับรองเกษตรอินทรีย์ในประเทศนั้นๆ ได้เลย
สำหรับเมืองไทยและผู้ประกอบการไทย หากคิดจะทำบิสซิเนสโมเดลในตอนนี้จะต้องมองให้ไกลและมองให้คุ้มทุนอย่างที่สุด โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จะก้าวจากการปรับสินค้าเกษตรที่ใช้สารเคมีใน ปัจจุบันไปสู่การเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ก็อาจจะช้าเกินไป และยังเป็นการลงทุนที่สูงด้วย ดังนั้นการมองโอกาสในธุรกิจนี้จึงต้องมองในระยะยาว วางแผนตั้งแต่การผลิต แปรรูป และการวิจัยพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3 กันยายน 2552
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02biz01030952§ionid=0214&day=2009-09-03