เมื่อวันที่ 7 กันยายน 52
การรวมกลุ่มบริหารจัดการผลไม้ภายใต้สถาบันเกษตรกร ไม่เพียงช่วยระบายผลผลิตจากสวนออกสู่ตลาดได้รวดเร็วเท่านั้น แต่ยังสามรารถแก้ปัญหาในเรื่องของราคาตกต่ำได้อีกด้วย โดยเห็นจากผลการดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการตลาดผลไม้ของสถาบันเกษตรกรในช่วงฤดูกาลปี 2552 ตั้งแต่เดือนเมษายน-สิงหาคม ที่ผ่านมา
มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 87 แห่ง จาก 16 จังหวัด ทั้งในภาคตะวันออก ภาคเหนือและภาคใต้ โดยผลไม้หลักที่สำคัญได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ลำไยและลิ้นจี่ สถาบันเกษตรกรสามารถรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรได้ปริมาณ 36,681 ตัน มูลค่า 559.5 ล้านบาท ซึ่งปริมาณผลผลิตที่รวบรวมได้ในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 45%
วินัย กสิรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการรวบรวมและจำหน่ายผลไม้คุณภาพตามที่แต่ละตลาด ต้องการและสามารถพัฒนาเป็นตลาดที่ยั่งยืน เริ่มจากการรณรงค์และอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกในสถาบันเกษตรกร ผลิตผลไม้ให้ได้ตามมาตรฐานจีเอพี การจัดอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกต่อความปลอดภัยด้านสินค้าผลไม้ของสถาบันเกษตรกร รวมทั้งการเข้าไปแนะนำช่วยเหลือการจัดทำแผนธุรกิจและการเงิน การช่วยประสานช่องทางตลาดและจัดเวทีเจรจาธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด โดยการกระจายผลผลิตเป้าหมายปริมาณ 3 หมื่นตัน
"ตลาดเป้าหมายที่สถาบันเกษตรกรได้กระจายผลผลิตออกสู่ตลาด แบ่งออกเป็น 4 ช่องทาง ได้แก่ ห้างค้าปลีก ปริมาณ 12,000 ตัน ผู้ส่งออกผลไม้ ปริมาณ 9,000 ตัน ผู้ประกอบการค้าทั่วไป ปริมาณ 7,500 ตัน และเครือข่ายสหกรณ์ ปริมาณ 1,500 ตัน"
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยต่อว่า การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่สถาบันเกษตรกรนั้น ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ กรมจึงสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นทุนหมุนเวียนดำเนินธุรกิจให้แก่สหกรณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์จำนวน 200 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี กระจายไปตามภาคต่างๆ สำหรับภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะในพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนใต้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะรวบรวมผลผลิตได้เสร็จสิ้นประมาณกลางเดือนกันยายนนี้
"ขณะนี้ผลไม้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้กำลังทยอยออกสู่ตลาด ผลไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ลองกอง เงาะ ทุเรียน มังคุด ให้ผลผลิตระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายในการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เข้ามามีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการผลผลิต ตั้งแต่กระบวนการรวบรวม คัดแยกคุณภาพ และจำหน่ายผลไม้คุณภาพตามที่แต่ละตลาดต้องการและสามารถพัฒนาให้เป็นตลาดที่ ยั่งยืน ภายใต้ธุรกิจตามกลไกตลาด"
วินัยระบุอีกว่า ปีนี้กรมมีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือโดยดำเนินการอย่างเป็นระบบตั้งแต่การ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การปรับปรุงคุณภาพผลผลิต โดยการรณรงค์และอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกเกษตรกรในการผลิตผลไม้ให้ได้ตามมาตรฐานจีเอพี การพัฒนาระบบตลาด สนับสนุนการระบายสินค้า เพื่อให้ได้ราคาที่สูงขึ้น กรมตั้งเป้าหมายของการดำเนินโครงการการบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 13 แห่ง เป้าหมายที่จะรวบรวมผลไม้จากสมาชิกของสถาบันเกษตรกรจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 ตัน โดยแยกตามจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จ.ยะลา ปริมาณ 1,500 ตัน คิดเป็นร้อยละ 75 จ.นราธิวาส ปริมาณ 300 ตัน คิดเป็นร้อยละ 15 จ.ปัตตานี ปริมาณ 200 ตัน คิดเป็นร้อยละ 10
"ขณะนี้มีสหกรณ์ยื่นความประสงค์ขอกู้เงินไปแล้ว 4 ล้านบาท แบ่งเป็นสหกรณ์การเกษตรตันหยงมัส จำกัด จ.นราธิวาส 3 ล้านบาท และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรยะลา จำกัด และสหกรณ์ราษฎรอาสาสามัคคีรักษาหมู่บ้านธารโต จำกัด แห่งละ 0.5 ล้านบาท ผลการรวบรวมผลไม้ในสาม จังหวัดชายแดนใต้ ในเดือนสิงหาคมขณะนี้ จ.ยะลา จำนวนสถาบันเกษตรกร 7 แห่ง รวบรวมผลไม้ ปริมาณ 1,160 ตัน มูลค่า 15.05 ล้านบาท จ.นราธิวาส จำนวนสถาบันเกษตรกร 3 แห่ง รวบรวมผลไม้ ปริมาณ 221 ตัน มูลค่า 1.72 ล้านบาท จ.ปัตตานี จำนวนสถาบันเกษตรกร 3 แห่ง รวบรวมผลไม้ ปริมาณ 43 ตัน มูลค่า 0.98 ล้านบาท"
ด้าน แวอูมา สะหะบูดิง ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรตันหยงมัส จำกัด อ.ระแงะ จ.นราธิวาส กล่าวถึงการบริหารจัดการลองกอง ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของสมาชิก โดยระบุว่าปีนี้ได้รวบรวมผลผลิตลองกองจากสมาชิกสหกรณ์ไปแล้วจำนวน 20% (16,348.5 กิโลกรัม) และลองกองกำลังทยอยให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลผลิตในรุ่นที่ 2 ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกจำนวน 600 คน จำนวนต้นลองกองที่สมาชิกเพาะปลูกรายละประมาณ 30 ต้นต่อคน
"สมาชิกรวบรวมผลผลิตจากสวนของตนเอง แล้วนำมาส่งยังศูนย์คัดแยกผลผลิตของสหกรณ์ ซึ่งได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา มีอยู่ 2 จุด ได้แก่ ศูนย์คัดแยกบ้านไทย ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ และตั้งอยู่ใกล้กับสหกรณ์การเกษตรตันหยงมัส จำกัด ในเขตเทศบาลอำเภอระแงะ จ.นราธิวาส" แวอูมา เผยขั้นตอนการรวบรวมผลผลิต
ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรตันหยงมัส ยอมรับว่าปัญหาเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ปีที่ผ่านๆ มา มีส่วนที่ทำให้สมาชิกไม่กล้าเข้าไปเก็บผลผลิตของตัวเอง แต่ในปีนี้ปัญหาดังกล่าวมีไม่มากนัก เกษตรกรสามารถเข้าพื้นที่ไปเก็บผลผลิตได้แม้จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ตาม โดยผลผลิตที่รวบรวมได้จะส่งจำหน่ายให้ส่วนราชการต่างๆ และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส เพื่อนำไปจำหน่ายนอกพื้นที่ เช่น ในงานมหกรรมสินค้าสหกรณ์ที่ จ.สกลนคร จำนวน 2,200 กิโลกรัม อตก.จตุจักร กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังส่งให้ห้างแม็คโคร ห้างเทสโก้โลตัส อีกด้วย
"ทุกวันนี้สหกรณ์สามารถระบายผลผลิตได้ทันเวลา ไม่เน่าเสีย แต่เห็นว่าหากจังหวัดได้เข้ามาช่วยเหลือโดยการรับผลผลิตจากสหกรณ์ไปกระจาย ส่งขายให้ตามจุดจำหน่ายต่างๆ หรือส่งขายตามช่องทางการตลาดหลายๆ ช่องทางก็จะเป็นการช่วยเหลือสหกรณ์ไม่ต้องเสี่ยงกับผลผลิตเน่าเสียหรือ แบกรับค่าใช้จ่ายในการพาสมาชิกมาขายผลผลิตในกรุงเทพฯ " แวอูมา กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 7 กันยายน 2552
http://www.komchadluek.net/