แก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด-ราคาตกต่ำ ด้วย 'ความร่วมมือไตรภาคี'
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 52
แก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด-ราคาตกต่ำ ด้วย 'ความร่วมมือไตรภาคี'
ขณะที่สินค้าเกษตรหลายชนิดยังประสบปัญหาเรื่องสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ จนเกษตรกรต้องรวมตัวออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งหาทางออกเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน แต่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินกลับไม่ต้องกังวลในปัญหาดังกล่าว เนื่องจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ช่วยสร้างโอกาสในการผลิตและการจำหน่ายสินค้าเกษตร ภายใต้ “โครงการความร่วมมือไตรภาคีการปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรเชิงการตลาดนำการผลิต” นับเป็นทีเด็ดที่ช่วยลดปัญหาสินค้าราคาตกต่ำได้
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า จากการที่ ส.ป.ก.ได้เร่งขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือไตรภาคีฯ โดยมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินผลิตสินค้าเกษตรในรูปแบบ คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) โดยผลักดันให้เกษตรกรกับภาคเอกชนร่วมลงนามทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าแบบประกันราคารับซื้อขั้นต่ำ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องวิ่งหาตลาด ถือเป็นช่องทางที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงด้านการตลาดและช่วยลดปัญหาสินค้าราคาตกต่ำได้ดีมาก
ปัจจุบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน 45 จังหวัด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีฯ กับภาคเอกชนแล้วกว่า 60 บริษัท พร้อมส่งเสริมการผลิตพืชอาหาร และพืชพลังงาน ป้อนตลาดไม่น้อยกว่า 45 ชนิดสินค้า อาทิ ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวหอมมะลิ ข้าวอินทรีย์ สบู่ดำ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวฟ่างหวาน ยูคาลิปตัส ผักกาดหัว หน่อไม้ฝรั่ง พุทรานมสด มะม่วงน้ำดอกไม้ ชมพู่ กล้วยไข่ แคนตาลูป เมลอน มะละกอ สับปะรด ไหมอีรี พริก Super hot กาแฟ มะเขือม่วง แตงกวา พืชผัก ไม้ผล นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ ปลาสวาย และปลาดุก เป็นต้น รวมพื้นที่ผลิตกว่า 3 ล้านไร่
พืชที่เกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการไตรภาคีฯ มากที่สุด คือ คือ มันสำปะหลัง รวมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 226,975 ไร่ เกษตรกร 14,710 ราย โดย ส.ป.ก.ได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 213 กลุ่ม สมาชิก 2,740 ราย จัดทำคอนแทร็กฟาร์มมิ่งกับภาคเอกชน 5 บริษัท รองลงมา คือ ข้าวหอมมะลิ มีพื้นที่ 203,557 ไร่ เกษตรกร 13,649 ราย มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตข้าวหอมมะลิ 105 แล้ว จำนวน 460 กลุ่ม สมาชิก 12,024 ราย และลงนามคอนแทร็กฟาร์มมิ่งกับบริษัท เจียเม้ง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด มีเป้าหมายรองรับผลผลิตข้าวได้ปีละกว่า 100,000 ตัน
นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ปลูกอ้อยในเขตปฏิรูปที่ดินเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 167,285 ไร่ เกษตรกร 6,562 ราย จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแล้ว 137 กลุ่ม สมาชิก 1,753 ราย และลงนามคอนแทร็กฟาร์มมิ่งกับภาคเอกชน จำนวน 7 บริษัท นอกจากนั้นยังมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ 39,308 ไร่ เกษตรกร 1,747 ราย จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 145 กลุ่ม สมาชิก 1,747 ราย ซึ่งสร้างความร่วมมือไตรภาคีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อี.เอ็ม การเกษตร
นายอนันต์กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาโครงการความร่วมมือไตรภาคีฯว่า มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและปรับปรุงเทคนิคบริหารจัดการแบบผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นให้จัดกระบวนการการผลิตที่ช่วยลดต้นทุน พร้อมส่งเสริมการพึ่งพาตลาด โดยเฉพาะกลุ่มที่ผลิต เพื่อจำหน่ายได้ใช้รูปแบบการตลาดนำการผลิต เน้นให้สมาชิกผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งยังสนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีการพัฒนาธุรกิจรวบรวมผลผลิต และมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดด้วย
อย่างไรก็ตาม ปี 2552 นี้ ส.ป.ก.ได้เตรียมแผนเร่งขยายผลการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีฯ พื้นที่เป้าหมาย 500 ตำบล พร้อมพัฒนาการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน 1,000 แห่ง และสหกรณ์ 30 แห่ง ทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนให้บริการปรับโครงสร้างการผลิตและขยายผลเครือข่ายการผลิตและการตลาด เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 100,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตป้อนตลาดได้แล้ว คาดว่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นกว่า เส้นความยากจน หรือเกินกว่า 4,500 บาท : เดือน อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นได้ในระยะยาว
เมื่อลดช่องว่างด้านการตลาดได้แล้ว สิ่งท้าทายความสามารถของเกษตรกร เห็นจะเป็นเรื่อง “คุณภาพและมาตรฐานของสินค้า” งานนี้ใช้ฝีมือล้วน ๆ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 มกราคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=188362&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า