ใช้ปุ๋ยคอกจาก 'หมูหลุม' ทดแทนสารเคมี ลดต้นทุนโดยปริยาย รายได้เพิ่มอีกต่างหาก
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 52
ใช้ปุ๋ยคอกจาก 'หมูหลุม' ทดแทนสารเคมี ลดต้นทุนโดยปริยาย รายได้เพิ่มอีกต่างหาก
"ใช้สารเคมี 20 กว่าปี พบข้อเสียคือ หนึ่งราคาแพง สองทำให้ดินเสีย และสามต้นทุนสูง ปีนี้เราใส่ยางต้นละ 1 กิโลกรัม ได้ผลผลิตแค่ 2 กิโลกรัมครึ่งต่อไร่ต่อปี อีกปีใส่เท่าเดิม มันลดลงเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราใช้ปุ๋ยหมักมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับการขึ้นบันไดช้า ๆ แต่มั่นคง ไม่เหมือนเคมีขึ้นปุ๊บ ลงวูบตรงนี้ไม่ดี ต้นทุนสูงด้วย ผมอยากให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมัก หมักอะไรก็ได้ หมักใบหญ้า ใบไม้ เราต้องมาศึกษาว่า พืชแต่ละอย่างมีธาตุอาหารอะไร นำพืชตัวนั้นมาหมักแล้วเอาไปใช้ สมมุติเราจะใช้ไนโตรเจน เราก็เอาหัวไชเท้าไปหมักก็แทนตัว N ได้ ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี”
นี่คือเสียงสะท้อนของ นายไพศาล นิจจันทร์พันธ์ศรี อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 63 หมู่ที่ 10 ต.กุกใต้ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี หมอดินอาสาประจำตำบล จ.สุราษฎร์ธานี
นายไพศาล เล่าให้ฟังว่า ได้นำความรู้จากการเข้าเป็นหมอดินอาสาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 และ ความรู้ที่ได้รับจากการไปอบรมดูงาน มาทำปุ๋ยหมักเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ควบคู่ไปกับการปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และ แก้ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทำให้พื้นที่ที่ขาดธาตุอาหารพืช ค่อย ๆ ฟื้นกลับมา โดยได้ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินสุราษฎร์ธานี จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงประจำอำเภอวิภาวดีขึ้น ในพื้นที่ของตนเองจำนวน 25 ไร่ อย่างไรก็ตามการที่ต้องใช้ปุ๋ยหมักจำนวนมากอยู่สม่ำเสมอ ทำให้ต้องประสบปัญหาอีกครั้ง เนื่องจากขาดแรงงานที่จะช่วยกลับกองปุ๋ยหมัก ขาดวัสดุประเภทมูลสัตว์ ดังนั้น ตนจึงหันมาเลี้ยงหมูหลุมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
“นิสัยหมูชอบซุกซน ขุดคุ้ยเขี่ยตลอดเวลา เท่ากับแปรพลิกระบายอากาศในกองปุ๋ยตลอด ดีกว่าคน มีโอกาสถึงจะทำ อีกทั้งเวลาหมูหลุมฉี่หรือขี้ใส่ก็ยังผสมเป็นปุ๋ยอย่างดีอีกด้วย” นายไพศาล กล่าว
หมอดินอาสา บอกอีกว่า ปุ๋ยคอกที่ได้จากหมูหลุม ถูกนำไปใช้เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ใส่ต้นไม้ เช่น ยางพารา ผลไม้ และผักสวนครัว ซึ่งได้ผลผลิตไม่แตกต่างจากปุ๋ยหมักโดยทั่วไป ขณะเดียวกันยังประหยัดแรงงาน ต้นทุนวัสดุ และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายหมู
สำหรับรายได้ที่นายไพศาลได้รับนั้น เป็นรายได้ที่สม่ำเสมอจากการทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นให้ครอบครัวมีกินมีใช้ เหลือจึงขาย กลายเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนเพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียงจึงหันกลับมาทำการเกษตรแบบใช้สารอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ทั้งการทำปุ๋ยคอกจากหมูหลุม ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ ใช้สารเร่ง พด.3 ในการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชในยางพารา ใช้สารเร่ง พด.7 ในการผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช และสารเร่ง พด.6 ในการผลิตสารบำบัดน้ำเสีย และขจัดกลิ่นเหม็นในคอกหมู ซึ่งทั้งหมดได้ส่งผลให้ลดรายจ่ายการใช้ปุ๋ยและสารเคมีลงอย่างมาก รวมทั้งทรัพยากรดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้นและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย
จากความมุ่งมั่นที่จะทำโดยลดการใช้สารเคมี ทำให้วันนี้นายไพศาลได้รับเลือกให้เป็นหมอดินอาสาดีเด่นรองชนะเลิศอันดับ 2 กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2552.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=19101
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า