เมื่อวันที่ 20 มกราคม 52
ได้ผลดีเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ สำหรับการนำของเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ไปใช้ในไร่นาของเกษตรกร อย่างงานวิจัยล่าสุดของ รศ.อุทัย คันโธ ผอ.สถาบันวิจัยสุวรรณวาจกกสิกิจ เพื่อการค้นคว้าพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรื่อง "แนวทางการวิจัยเพื่อใช้ของเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ในการผลิตพืชอย่างยั่งยืน" ที่ใช้มูลสุกรทดลองฉีดพ่นในแปลงนาข้าว ไร่มันสำปะหลังของเกษตรกร ผลปรากฏว่าพืชทั้ง 2 ชนิดให้ผลผลิตเพิ่ม แถมลดต้นทุนการผลิตได้ถึงไร่ละ 3,000 บาท
ในการประชุม “นักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ โดย รศ.อุทัย บอกแนวคิดการวิจัยเรื่องนี้ว่า เกิดจากประเทศไทยมีการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นทุกปี จึงมีมูลสัตว์ที่มีธาตุอาหารพืชครบ 13 ชนิด เหมาะกับการปลูกพืช (ได้แก่ N, P, K, Ca, Mg, S, Fe, Mn, Cu, Zn, B, Mo และ Cl) มีฮอร์โมนพืชช่วยเร่งการเจริญเติบโต
รศ.อุทัย ได้ยกตัวอย่างการทดลองของสถาบันที่นำน้ำจากบ่อมูลสุกรสูบขึ้นมาใส่นาข้าวพื้นที่นำร่องใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ข้าวมีอายุ 1-2 เดือน ประมาณ 100 ลิตรต่อไร่ ผลที่ได้คือ ข้าวมีใบสีเขียวจัด ต้นข้าวแข็งแรงมาก ไม่ล้มง่าย ใบหนา ไม่มีแมลงรบกวน ทั้งที่ไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลง รวงใหญ่และเหนียว เมล็ดข้าวมีความสมบูรณ์สูง น้ำหนักดี มีเปอร์เซ็นต์ข้าวหักน้อยเมื่อนำไปสีเป็นข้าวเจ้า
"การใช้มูลสุกรแห้งกับนาข้าวยังทำให้ข้าวออกรวงได้เร็วขึ้น 5-7 วัน โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเร่งรวงข้าว ซึ่งปริมาณมูลสุกรแห้งที่ใช้นา 1 ไร่ต่อ 200 กิโลกรัม แต่ถ้าไม่มีมูลสุกรก็ใช้น้ำล้างคอกแทนได้ ขณะเดียวกันใช้น้ำสกัดมูลสุกรจำนวน 220 ลิตรแช่เมล็ดข้าว ฉีดพ่นทางใบ และใส่ในดินติดต่อกัน 4-5 ปี พบว่าเกษตรกรที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม สามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตสูงอย่างต่อเนื่องรวม 12 ครั้ง"
รศ.อุทัย กล่าวสรุปว่า การปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์มูลสุกรจะให้ผลผลิตสูงกว่าใช้ปุ๋ยเคมี โดยได้ผลผลิตเฉลี่ยถึง 1-1.3 ตันต่อไร่ เมล็ดมีน้ำหนักดีกว่าเดิม ขณะที่ต้นทุนการปลูกข้าวจะลดลงถึงไร่ละ 2,000-3,000 บาท นับว่าช่วยเหลือเกษตรกรได้มาก
อีกพืชที่ทดลองคือ มันสำปะหลัง ซึ่งช่วงแรกของการทดลองปรากฏว่าไม่ได้ผล คณะนักวิจัยประเมินว่า พืชได้ปัจจัย 4 คือ แสงแดด คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และธาตุอาหารไม่ครบ โดยพื้นที่ปลูกมันขาดน้ำ ดังนั้นเกษตรกรบางรายจึงใช้ระบบน้ำหยด รวมทั้งใช้น้ำมูลสุกรซึ่งมีธาตุอาหารครบฉีดพ่น อัตรารวม 500 กิโลกรัมต่อไร่
"เริ่มจากแช่ท่อนพันธุ์มันในน้ำสกัดมูลสุกรก่อนปลูก 1 คืน เพื่อให้ท่อนพันธุ์ดูดธาตุอาหารเข้าไป เมื่อมันงอกและตั้งตัวได้แล้ว ก็ใช้น้ำสกัดจากมูลสุกรรดดินหรือผสมในระบบน้ำหยด รวมทั้งฉีดพ่นน้ำสกัดมูลสุกรทางใบทุก 15 วัน ต้นอ่อนมันสำปะหลังที่งอกออกมาโตเร็ว โดยผลการทดลองในพื้นที่ จ.นครปฐม กาญจนบุรี และ ราชบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ได้ผลผลิตสูงมาก"
ข้อควรปฏิบัติในการปลูกมันสำปะหลังโดยใช้ระบบน้ำหมักมูลสุกรคือ การแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำปุ๋ยหมักร่วมกับการให้น้ำหลังปลูก จะทำให้มันออกรากมากกว่า 20 ราก ต่อมารากส่วนหนึ่งจะพัฒนาเป็นหัวซึ่งจะเพิ่มผลผลิตได้มาก โดยเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เกษตรกรจะปลูกกันมาก และรากจะเริ่มสะสมอาหารเดือนสิงหาคม-กันยายน ช่วงนี้ควรฉีดปุ๋ยหมักทางใบช่วยทุก 15 วัน จะทำให้หัวมันมีเปอร์เซ็นต์แป้งดีมาก ผลเฉลี่ยต่อไร่ประมาณ 16 ตัน
นอกจากนี้ สถาบันยังทดลองปุ๋ยหมักมูลสุกรกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น อ้อย ผักชีฝรั่ง ถั่วเหลืองฝักสด พริก มะระขี้นก ไม้ดอก เป็นต้น พร้อมอยู่ระหว่างทำข้อตกลงร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ให้มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาการเกษตรของไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 20 มกราคม 2552
http://www.komchadluek.net/2009/01/20/x_agi_b001_332775.php?news_id=332775