ใช้กลไกสหกรณ์ช่วยเหลือเกษตรผู้เลี้ยงกุ้ง
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 52
ใช้กลไกสหกรณ์ช่วยเหลือเกษตรผู้เลี้ยงกุ้ง
จากการที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาราคากุ้งในปี พ.ศ. 2552 โดยวิธีการรับจำนำจำนวน 10,000 ตัน ระยะเวลารับจำนำตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-31 ต.ค. 52 และอนุมัติงบประมาณ 190 ล้านบาท ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) รับผิดชอบบริหารโครงการ
ซึ่งกำหนดให้เกษตรกรต้องมาไถ่ถอนคืนภายใน 2 เดือน ทั้งนี้ราคารับจำนำกุ้งขนาด 40 ตัวต่อกิโลกรัม กิโลกรัมละ 155 บาท ขนาด 50 ตัว กิโลกรัมละ 135 บาท ขนาด 60 ตัว กิโลกรัมละ 125 บาท ขนาด 70 ตัว กิโลกรัมละ 110 บาท และขนาด 80 ตัว กิโลกรัมละ 100 บาท ดังนั้นรัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการรับจำนำกุ้งให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการ และโครงการการทำเกษตรแบบครบวงจรด้วยระบบสหกรณ์ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการ
นายวินัย กสิรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการรวบรวมผลผลิตกุ้งระบบการทำเกษตรแบบครบวงจรเป็นโครงการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เพื่อช่วยเหลือสหกรณ์ผู้ผลิตกุ้ง และผู้เลี้ยงกุ้งทั้ง 8 จังหวัด ช่วยแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำและพยุงราคากุ้งทะเล และ คชก.มีมติ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เห็นควรให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ใช้เงิน 300 ล้านบาท เพื่อรวบรวมปริมาณ 15,000 ตัน จากสมาชิก 3,000 รายจากต่างจังหวัด และต่อมามีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 อนุมัติทุนหมุนเวียนอีก 300 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเติมขยายกลุ่มเป้าหมายให้ถึงเกษตรกร ให้ทั่วถึงเพิ่มมากขึ้น
“ที่จริงแล้วเราก็รับนโยบายของรัฐบาลมา จากที่เคยรับจำนำแต่ท้ายที่สุดก็เป็นโครงการนี้ เนื่องจากเป็นความมั่นใจทั้ง 2 ฝ่าย เป็นระบบที่พ่อค้าและผู้ผลิตต้องการสามารถที่จะทำล่วงหน้าได้” รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการทำการเกษตรแบบครบวงจรนี้ จะเป็นการทำสัญญาข้อตกลงระหว่างสมาชิกกับสหกรณ์ และเป็นข้อตกลงระหว่างสหกรณ์กับห้องเย็นหรือพ่อค้า เพื่อจะมารับซื้อจากสหกรณ์ เมื่อได้สัญญาก็เอาไปชี้แจงกับสมาชิกว่ายินดีเข้าร่วมโครงการหรือไม่ ถ้าสมาชิกเห็นดีเข้าร่วมก็ดำเนินการไปตามระยะเวลา เพราะระยะเวลาการเลี้ยงที่ได้ประมาณ 3-4 เดือนต่อการเลี้ยงกุ้ง 1 รอบเงินเป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยระยะเวลาการดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่ ก.ค. 52-มิ.ย. 53 โดยเกษตรกรจะได้ประโยชน์ประมาณ 6,000 ราย ซึ่งในปัจจุบันนี้ราคากุ้งมีแนวโน้มว่าจะลงอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ทำให้ตลาดคู่ค้ามีกำลังซื้อน้อยลง
สำหรับเรื่องวงเงินของผู้เลี้ยงกุ้งนั้น สิ่งที่เราจำเป็นต้องจ่ายเงินให้ก่อน เนื่องจากเราจะดูจากเช็คระหว่างโรงงานกับสหกรณ์ สหกรณ์กับสมาชิก เมื่อสมาชิกส่งกุ้งไปโรงงาน ทางโรงงาน จะจ่ายเช็คล่วงหน้า 2-4 เดือน ทำให้เกษตรกรที่ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนมากพอที่จะลงทุนผลิตกุ้งรอบใหม่ ต้องเอาเช็คไปขายลด ทำให้ได้ราคาไม่เต็ม เพราะมีค่าธรรมเนียม มีค่าส่วนลด ค่าความเสี่ยง แต่จากการที่มีโครงการนี้เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรได้เงินครบเต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งยังเป็นการดึงซับไพร์มกุ้ง คือเอาปริมาณกุ้งเข้าไปเก็บในห้องเย็น ซึ่งเป็นงานที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับอนุมัติมา โดยมีสหกรณ์ 2 แห่ง คือ ชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งแห่งประเทศไทย และสหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสองทะเลจำกัด ร่วมดำเนินการร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง 8 จังหวัดภาคใต้
“เป้าหมายของโครงการคือเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยสามารถคงอยู่ได้และทำให้ราคากุ้งในประเทศมีเสถียรและมั่นคง ซึ่งถ้าไม่หาทางช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยก็จะสู้ผู้ผลิตรายใหญ่ไม่ได้ ทำให้ต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด ทั้งจากปัจจัยเรื่องของอาหารและยาในการเลี้ยงกุ้ง ทางกรมฯจึงเข้าไปดูแลนับตั้งแต่การจัดการเรื่องอาหาร ต้นทุนและการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น กุ้งชีวภาพ กุ้งฝอยทะเล เป็นต้น” นายวินัย กสิรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=19495
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า