เมื่อวันที่ 14 กันยายน 52
นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาตลาดยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ปัจจุบันยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรมากกว่า 6 ล้านคน ในปี 2552 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งประเทศ 16.7 ล้านไร่ มีพื้นที่สวนยางกรีดได้จำนวน 11.5 ล้านไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 3.2 ล้านตัน สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด มีพื้นที่เหมาะสมในการปลูกยางพาราจำนวน 25 ล้านไร่ ปลูกไปแล้ว 2.8 ล้านไร่ เป็นสวนยางกรีดได้ 0.72 ล้านไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 197,000 ตัน โดยอีก 3 ปีข้างหน้า ผลผลิตจะมีมากกว่า 500,000 ตันจากโครงการยางล้านไร่ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมการให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นศูนย์กลางด้านยางพาราของอินโดจีน โดยจะต้องมีการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันด้านยางพารากับกลุ่มประเทศในอินโดจีนให้ได้
นายศุภชัย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมการพัฒนาตลาดยางพาราเพื่อให้เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรด้านยางพารา สามารถขายผลผลิตยางพาราตามกลไกตลาด และได้รับความเป็นธรรม โดยมอบหมายให้องค์การสวนยางดำเนินโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยการสร้างโรงงานแปรรูปยางแท่ง STR 20 ขนาดกำลังผลิต 20,000 ตัน/ปี ที่ จ.ศรีสะเกษ อุดรธานี นครพนม และให้สร้างศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราที่ จ.เลย ชัยภูมิ และนครพนม และให้องค์การสวนยางเข้าร่วมดำเนินการโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูป ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล 5,000 ล้านบาท เพื่อให้องค์การสวนยางรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรที่ไม่สามารถแปรรูปหรืออัดก้อน หรือขายยางไปต่างประเทศได้
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร เปิดตลาดกลางยางพาราใน จ.บุรีรัมย์ และหนองคาย ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิดความมั่นใจในการประกอบอาชีพปลูกยางพารามากยิ่งขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 14 กันยายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=178658