เมื่อวันที่ 14 กันยายน 52
ผู้ส่งออกกุ้งเฮ ศาลการค้าระหว่างประเทศสหรัฐ ตัดสินให้ผู้นำเข้ากุ้งชนะศุลกากรสหรัฐ ให้ลดอัตราซีบอนด์ลงจาก 100% เหลือแค่ 10% "ผณิศวร" แนะรัฐบาลไทยเร่งเจรจาสหรัฐ ปฏิบัติตามคำตัดสิน WTO คืนเงินค้ำประกัน
นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ศาลการค้าระหว่างประเทศ C.I.T. (Court of International Trade) ได้ตัดสินให้ N.F.I. (National Fisheries Institute) ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทผู้นำเข้า 27 บริษัท ชนะคดีการฟ้องร้องกรมศุลกากรสหรัฐ สาระสำคัญคือ กรมศุลกากรจะต้องลดอัตราการเรียกเก็บพันธบัตรค้ำประกัน (C-Bond) กุ้งที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) จากเดิมต้องวางซีบอนด์ 100% ให้เหลือ 10% และทำให้มีผลย้อนหลังต่อการวางซีบอนด์รอบที่ผ่านมา ทั้งนี้ทางกรมศุลกากรสหรัฐสามารถอุทธรณ์คดีดังกล่าวภายใน 60 วัน ซึ่งอาจจะใช้ระยะพิจารณากรณีอุทธรณ์ต่อไปอีก 3-8 เดือน
ทั้งนี้ หากกรมศุลกากรสหรัฐไม่อุทธรณ์ หรือกรณีที่อุทธรณ์แล้วศาลยังยืนยันตามผลการตัดสินขั้นต้น จะทำให้ไทยสามารถเรียกร้องให้สหรัฐใช้เป็นแนวทางปฏิบัติกับไทยแบบเท่าเทียม กัน โดยจำเป็นต้องทำหนังสือเพื่อขอคำตัดสินดังกล่าวมีผลมาถึงไทยด้วยเช่นเดียวกัน
"การที่ผู้นำเข้าของไทยจะฟ้องร้องแบบเดียวกับ N.F.I. คงเป็นไปได้ยาก รวมทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงและไม่ได้ประโยชน์ จึงมองว่ารัฐบาลไทยควรเร่งเจรจาให้รัฐบาลสหรัฐปฏิบัติตามคำตัดสินขององค์การ การค้าโลก (WTO) ในประเด็นการคืนเงินค้ำประกันที่ยังค้างอยู่มาก หากสหรัฐไม่ปฏิบัติตาม ไทยสามารถใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าต่อสหรัฐได้ โดยขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ว่าจะดำเนินการกับสินค้าชนิดใดที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสูงของสหรัฐ แต่ภาคเอกชนมองว่าประเด็นเรื่องการตอบโต้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเอกชนได้ ฉะนั้นควรหาทางออกในเรื่องนี้โดยใช้วิธีอื่น" นายผณิศวรกล่าว
มาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่จะให้ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบนำเข้านั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่ให้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ควรปรับมาตรการให้ความช่วยเหลืออื่น เช่น การเปิดเสรีนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้ง จากปัจจุบันที่มีการนำเข้าอยู่เพียงไม่กี่รายการกำหนดโซนนิ่งพื้นที่เลี้ยงกุ้ง การปรับปรุงระบบการผลิตและการเลี้ยงเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ รวมถึงการตั้งองค์กรกุ้งแห่งชาติ เพื่อกำหนดทิศทางการดูแลอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ โดยจัดสรรงบประมาณก่อตั้ง 50 ล้านบาท หรือจัดสรรมาจากเงินรายได้จากการส่งออกกุ้งสัดส่วน 0.5% แค่ 350 ล้านบาทจากรายได้ทั้งหมดปีละ 7 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภาวะการส่งออกกุ้ง แช่เย็นและแปรรูป (ไม่รวมกุ้งกระป๋อง) ในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) มูลค่า 1,272.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านปริมาณ 190,091 ตัน เพิ่มขึ้น 10.07% จากปีก่อน โดยเป็นผลมาจากตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.69% จากการสหรัฐยกเลิกการเก็บภาษีเอดีกับบริษัทไทย 2 บริษัท และคู่แข่งทั้งจีน เวียดนาม ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ในตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 31.26% เพราะไทยได้คืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และตลาดออสเตรเลียมีแนวโน้มขยายตัวดี ทั้งนี้คาดว่าอีก 5 เดือนสุดท้าย (ส.ค.-ธ.ค.) น่าจะมีมูลค่า 1,142.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.3% จะทำให้ยอดการส่งออกทั้งปีนี้ 2,415 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.5%
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดของคำพิพากษา ซึ่งอาจจะมีการเสนอให้นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำหนังสือไปถึงสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อแสดงท่าทีขอให้กรมศุลกากรสหรัฐนำผลการพิจารณาคดีดังกล่าวมาใช้กับทุก ประเทศเท่าเทียมกัน (apply to all) เพราะประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องกฎหมายภายในสหรัฐที่มิชอบ ฉะนั้นเมื่อพิจารณาให้แก้ไขก็ควรปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน โดยในส่วนของเอกชนจะทำหนังสือไปยังกรมศุลกากรโดยตรงเช่นเดียวกัน
" การที่สหรัฐจะยกเลิกกฎหมายภายในที่มิชอบ ก็ต้องได้เปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามกระบวนการของไทย กรมได้หารือกับเอกชนแล้ว มีท่าทีร่วมกันว่าจะต้องขอให้สหรัฐปฏิบัติกับไทยให้เหมือนกับประเทศอื่น" แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 กันยายน 2552
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02inv01140952§ionid=0203&day=2009-09-14