เมื่อวันที่ 15 กันยายน 52
ล่าสุด นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนาประชาศึกษาหัวข้อ "สวนยาง สร้างชุมชนภาคอีสานให้เข้มแข็งได้จริงหรือ" ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จ.ขอนแก่น ว่า มีตัวแทนเกษตรกรภาคอีสานเสนอให้รัฐบาลขยายโครงการปลูกยางพาราจากเดิม 1 ล้านไร่ เพิ่มเป็น 4 ล้านไร่ เพราะมีพื้นที่เหมาะสมปลูกได้ถึง 9 ล้านไร่ จึงเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบโครงการไทยเข้มแข็ง 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาสนับสนุนเรื่องปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร
ปัจจุบันประเทศไทยผลิตยางพารา เป็นอันดับหนึ่งของโลก มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 16.74 ล้านไร่ ได้ผลผลิตกว่า 3,000 ล้านตัน แต่สภาพความเป็นจริงของวงการพัฒนาสายพันธุ์ยางพาราของไทยล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย จะเห็นได้ว่า แม้ถึงวันนี้ภาครัฐยังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 (RRIM 600) หรือที่เรียกว่าพันธุ์ 600 ซึ่งปลูกมากถึง 80% เป็นพันธุ์ที่สถาบันวิจัยยาง ประเทศมาเลเซีย (RRIM) พัฒนาขึ้นมาเมื่อปี 2448 และนำมาปลูกในประเทศไทยเมื่อปี 2513 หรือ 40 ปีก่อน มีผลผลิตเฉลี่ยต่ปีได้ 270 กิโลกรัมต่อไร่ สูงสุดไร่ละ 351 กิโลกรัมต่อปี ขณะที่มาเลเซียที่พัฒนาถึงพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 2027 มีผลผลิตกว่า 500 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีแล้ว
นอกจากพันธุ์ 600 ให้ผลผลิตต่ำหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ปัจจุบันพบว่าพันธุ์นี้กำลังประสบปัญหาโรครากขาวระบาดอย่างกว้างขวางในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ต้นยางล้มตายเสียหายอย่างหนัก ถึงขนาดต้องโค่นปลูกปาล์มน้ำมันแทน
ใจทิพย์ ด่านปรีดานันท์ นักวิชาการส่งเสริมเกษตรชำนาญการ สำนักเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยอมรับว่า สถานการณ์โรครากขาวที่เกิดกับต้นยางพารานั้น ระบาดมากว่า 10 ปี และนับวันจะขยายเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง เพราะได้รับรายงานจากพื้นที่เข้ามาทุกเดือนว่า ได้ขยายวงกว้าง โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน และยอมรับว่าแก้ไขได้ยากพอสมควร แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหาแนวทางแก้ไขอยู่
"โรคนี้เกิดจากรากเน่าของต้นยางเก่าที่เกษตรกรโค่น แต่ไม่ขุดต่อออก แล้วมาปลูกต้นใหม่ รากที่เน่าเกิดเป็นเชื้อราซึมไปยังต้นยางใหม่ ระบาดไปทั่ว น่าห่วงมาก บางแห่งเกษตรกรถึงขั้นต้องโค่นสวนยางทั้งหมด เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันแทน" ใจทิพย์ กล่าว
จากหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับยางพันธุ์เดิมที่นิยมปลูกอยู่ ทำให้แกนนำชาวสวนยางทั่วประเทศ นำโดยนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย เดินทางไปยัง จ.ตรัง เพื่อพิสูจน์ความจริง หลังจากทราบว่ามีเอกชน 2 ราย ที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาสายพันธุ์ยางพารามีคุณภาพที่มีคุณสมบัติทนทานต่อโรค และให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละกว่า 500 กิโลกรัมต่อปี คือ นายขำ นุชิตศิริภัทรา นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดตรังที่พัฒนาพันธุ์ เคที 311 (KT311) เจ้าของสวนยางลุง ขำ ที่ ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง และที่สวนของนายชิ้ม เกษตรกรจาก ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน ที่ปลูกพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งมีผลผลิตได้ไร่ละกว่า 500 กิโลกรัมต่อปี เช่นกัน
นายขำ กล่าวว่า ยางพา ราพันธุ์เคที 311 เกิดจากการผสมคือ อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 เป็นพันธุ์แม่ พีบี 235 เป็นพันธุ์พ่อ มีคุณสมบัติคือ ไม่มีโรคใบร่วง ให้ผลผลิตสูงกว่าไร่ละ 500 กิโลกรัมต่อปี และบางแห่งได้ถึงไร่ละ 570 กิโลกรัมต่อปี อย่างในสวนของเขากว่า 200 ไร่ ปลูกมาแล้วถึงกว่า 20 ปี ยังให้ผลผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันผลิตต้นกล้าขายในราคาต้นละ 35 บาท
ด้าน นายชิ้ม บอกว่า ปลูกยางพาราพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ เจวีพี 80 (JVP80) มาแล้ว 36 ปีปัจจุบันสวนแรกที่ เจวีพี 80 มีอายุ 36 ปี แต่ยังกรีดได้ตามปกติและให้น้ำยางสม่ำเสมอ ปลูกได้อายุ 6 ปีสามารถกรีดได้แล้ว จึงทำให้เสียดายที่จะโค่นปลูกใหม่ เพราะยังให้ผลผลิตดีอยู่
"ครอบครัวผมทำสวนยางมาตลอด แต่ผมพยายามสรรหากล้ายางพันธุ์ดีๆ สังเกตว่าในสวนของเรามีต้นใดบ้างที่ให้ผลผลิตสูง พบว่ามีอยู่ 5 ต้น ผมเลยมาทำเป็นแม่พันธุ์มาทาบกิ่ง ปรากฏว่าให้น้ำยางดี มากเหมือนต้นแม่ จึงขยายเเรื่อยๆ ทุกวันนี้ผมปลูกไว้ 50 ไร่ ให้ผลผลิตไร่ละกว่า 500 กิโลกรัมต่อปี ขณะที่พันธุ์ทั่วไปผมปลูก 50 ไร่เฉลี่ยยู่ที่ 300 กิโลกรัมต่อปีต่อไร่ เท่านั้น ที่สำคัญมีอายุการกรีดกว่า 30 ปีก็ยังดีอยู่" นายชิ้ม กล่าว
ขณะที่ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กล่าวว่า จากที่ตัวแทนนำชาวสวนที่เดินทางไปพิสูจน์พันธุ์ยางพาราของเกษตรกรที่ จ.ตรัง จึงมั่นใจว่า พันธุ์ยางทั้ง 2 แห่งมีคุณสมบัติดีจริง จะเห็นได้ว่า ผลการพิสูจน์ปลูกสลับกับต้นพันธุ์ที่กำลังนิยมกับพันธุ์ของเกษตรกรเทียบไม่ ติดเลย ทั้งการให้ผลผลิต ขนาดของต้น ที่เกษตรกรทดลองกรีดให้ดู จึงฝากหน่วยงานรัฐ และนักวิจัย ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะนำพันธุ์ยางดีของชาวบ้านมาต่อยอด ไม่ใช่มากัก ขัดขวางอย่างที่เป็นอยู่
"ผมตัดสินใจแล้วว่า จะแนะนำให้เกษตรกรหันมาปลูกยางพารา พันธุ์ใหม่ที่เกษตรกรที่ตรังพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาเอง เพราะได้ไปเห็นมากับตาว่า เวลากรีดน้ำไหลแรงมาก ให้ผลผลิตสูงทั้งๆ ที่กรีดตอนเที่ยง ซึ่งตอนเช้าเกษตรกรกรีดแล้ว แต่ยังให้น้ำยางเกือบเต็มถ้วย อย่างที่สวนลุงชิ้นที่ปลูกพันธุ์เจวีพี 80 มี 36 ปียังให้น้ำยางดี ตามปกติ ผมรู้สึกเสียดายงบวิจัยในแต่ละปีเกือบ 200 ล้านบาท แต่ผลงานวิจัย 40 ปีแล้ว เรายังอยู่ที่อาร์อาร์เอ็มไอที 600 เพื่อนบ้านไปไกลไม่เห็นฝุ่นแล้ว ยิ่งตอนนี้พันธุ์ 600 กำลังเจอโรครากขาวบาด ต้นยางตายไปเป็นว่าเล่น หากเกิดเหมือนประเทศบราซิลเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือระบาดทั้งประเทศ เราพังแน่ครับ" นายอุทัย กล่าว
ก็นับเป็นอีกเลือกหนึ่งของชาวสวนยางพารา ที่จะได้เลือกสายพันธุ์ที่ปลูกใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องศึกษาให้รอบคอบถึงคุณสมบัติ และสถานที่ปลูกว่าเหมาะอย่างไร ก่อนที่จะเกิดคามเสียหายในโอกาสต่อไป
ซีพีสบช่องยอดพันธุ์เจวีพี 80
นายขุนศรี ทองย้อย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ในฐานะที่ซีพีได้บทเรียนและประสบการณ์จากโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ในภาคอีสานและภาคเหนือ จึงมองว่ายางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งไทยครองการผลิตมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทางซีพี จึงพยายามทั้งค้นคว้าวิจัย และสรรหาต้นพันธุ์ยางที่ดีทั่วประเทศ เพื่อจะพัฒนาพันธุ์ยางพารา ให้ได้คุณภาพดีที่สุดทั้งที่ให้ผลผลิตดี อายุให้ผลประโยชน์นาน กรีดได้เร็ว ทนต่อโรค ในที่สุดทีมงานของ นายจตุพร สวัสดี ผู้ชำนาญการด้านยางพาราของบริษัท ไปพบพันธุ์ยางของ นายชิ้ม จึงได้ศึกษาคุณสมบัติต่างๆ พบว่า เป็นพันธุ์ที่ดี แต่ถูกเมินจากหน่วยงานรัฐ ซีพีจึงพิจารณารอบด้าน ก่อนตัดสินใจต่อยอดพันธุ์ยางของนายชิ้น เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปลูกต่อไป โดยการผลิตต้นกล้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "เจวีพี 80"
"เราเทียบกับยางพาราทั่วไปกรีดได้เพียง 2 รอบต่อต้น เมื่อต้นยางกรีดถึง 25 ปี ต้องโค่นต้นปลูกใหม่ แต่พันธุ์เจวีพี 80 เปลือกหนามาก สวนของลุงชิ้มกรีดมาแล้ว 4 รอบ เปลือกต้นยังดี หนา ให้น้ำยางปกติ ถ้าไม่ดีจริง ลุงชิ้มคงโค่นทำยางสังเคราะห์ ไปแล้ว ตอนนี้ซีพีมาต่อยอดเบื้องต้นเราผลิตต้นกล้าได้ปีละ 4 แสนต้น มีคนจองไปแล้วกว่า 50% ในปีต่อไปคงจะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจถึง 1 ล้านต้น" นายขุนศรีกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 15 กันยายน 2552
http://www.komchadluek.net