เมื่อวันที่ 5 มกราคม 52
สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช หากใช้ในปริมาณมากส่วนใหญ่มักจะตกค้างอยู่ในสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดการสะสมทั้ง พื้นที่การเกษตร แหล่งน้ำ และ ลำธาร
เมื่อฝนตกปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่มีการแพร่กระจายของสารเหล่านี้ ได้ทำลายสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่มีคุณประโยชน์ต่อดิน อย่างเช่น ไส้เดือน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบเชิงลบโดยตรงต่อ ผู้บริโภค อีกด้วย เนื่องจากพืชสามารถดูดซึมสารพิษบางชนิดไว้ในเซลล์ได้และ เพิ่มความเป็นพิษจากระดับความเข้มข้นเพียงเล็กน้อยสู่ระดับความเป็นพิษที่ มากขึ้น
ใน ห่วงโซ่อาหาร ถัดไป หากมนุษย์บริโภคอาหารปนเปื้อนสารพิษเหล่านี้เข้าไปทำให้เกิดการ เจ็บป่วย กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขพื้นฐานของประชาชนตามมาด้วย
อีกทั้งปัจจัยการผลิต สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ส่วนใหญ่ต้องนำเข้า จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ประเทศเยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์ และ ญี่ปุ่น ในแต่ละปีคิดเป็นเงินที่ไหลออกนอกประเทศมีมูลค่า หลายพันล้านบาท
สำหรับ ภูมิปัญญา ของ บรรพบุรุษบ้านเรา ได้ใช้ สะเดา พืชมหัศจรรย์และสารพัดประโยชน์ที่มี “สารอะซาไดแรคติน” สามารถกำจัดหนอนได้ มาใช้ทดแทนสารเคมี เนื่องจากเป็นวิธีที่ลงทุนต่ำ สามารถ นำพืชที่พบในท้องถิ่นมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต
แต่หากใช้เทคโนโลยีพื้นบ้านแบบง่ายๆ ก็จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ด้วยเหตุผลนี้ทาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีการผลิตสารสกัดจากสะเดาทั้ง ระดับชุมชนและระดับอุตสาหกรรมขนาดย่อม” เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนา มุ่งเน้นให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและคุณภาพเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช
รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี บอกว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้ให้ทุนสนับสนุนการสร้างโรงงาน ต้นแบบผลิตสารสกัดจาก สะเดา แก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มี นายสุทัศน์ บุรีภักดี จาก ภาควิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรสภาพ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยดำเนินการติดตั้งเพื่อทดสอบการผลิต ณ อาคารปฏิบัติการผลิตสารสกัดจากพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร ต.คลองหก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
สำหรับ การวิจัยคุณภาพผลิตภัณฑ์สะเดา มี รศ.อัญชลี สงวนพงษ์ เป็นผู้วิจัยหลัก ในส่วนดำเนินการวิจัยเรื่อง “ผลิตสารสกัดสะเดาเชิงธุรกิจ” เป็นการผลิตระดับนำร่องใน โรงงานต้นแบบที่มีขนาด 27,000 ลิตรต่อปี และสามารถขยายกำลังผลิตให้เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
การ ศึกษาวิจัยเพื่อจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตสารสกัดจากสะเดาเป็นก้าวย่าง ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีของไทย ทำให้เกษตรกร สามารถทำเกษตรกรรมได้ โดยพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ภายในประเทศและผลิตขึ้นเอง
และเป็นการพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริ ภายใต้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถ เสริม สร้างเศรษฐกิจชุมชน ให้เข้มแข็ง ช่วยรัฐลดอัตราการนำเข้าสารเคมีในการป้องกัน กำจัดศัตรูพืชและช่วยทำให้ ความสมดุลธรรมชาติ ที่สูญเสียไปกลับคืนมา
ภายหลังคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยแล้วเสร็จ ได้มอบหมายให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งทาง สำนัก งานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ ประเมินมูลค่าเทคโนโลยีการดำเนินการ ผลิตสารสกัดสะเดาเชิงธุรกิจ โดยมีบริษัทเอกชนเข้ามารับการถ่ายทอด เทคโนโลยีและขออนุญาตให้ใช้สิทธิ์เสร็จสิ้นแล้ว
เทคโนโลยีการผลิตสารสกัดสะเดาเชิงธุรกิจ...นอกจากใช้ในการป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูพืชแล้ว ยังมีการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยที่อาจเกิดขึ้นทั้ง ทางการเกษตร ไปถึง ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน อย่างเช่น สบู่ แชมพู และ เครื่องสำอาง ที่สามารถโกอินเตอร์ไปจำหน่ายในต่างประเทศให้กับผู้ที่ชื่นชอบพืชสมุนไพรได้อีกด้วย
ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อ “สะเดา” ในโลกกว้าง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 5 มกราคม 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=117724