ออกมาตราการคุมวัตถุอันตรายทางเกษตร
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 52
ออกมาตราการคุมวัตถุอันตรายทางเกษตร
ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2551 กรมวิชาการเกษตรได้ออกมาตรการคุมเข้มผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร เพื่อปราบปรามผู้กระทำความผิด ส่งผลให้ปีนี้มีสถิติการเก็บตัวอย่างวัตถุอันตรายมาตรวจสอบเพิ่มขึ้นจากเดิม ขณะเดียวกันพบว่าเปอร์เซ็นต์การตรวจพบวัตถุอันตรายที่ไม่ได้มาตรฐานมีปริมาณลดน้อยลง นับเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่จะมีโอกาสในการเข้าถึงวัตถุอันตรายที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการในการควบคุมเรื่องวัตถุอันตรายทางการเกษตร แบ่งออกเป็น 4 มาตรการหลัก ๆ คือ
1.มาตรการควบคุมการนำเข้าสารเคมีและวัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยกรมฯ จะตรวจสอบไปถึงแหล่งผลิตในประเทศที่มีการนำเข้า โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีการนำเข้าสารเคมีมากที่สุดถึง 70% ถ้าพบว่าไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2551 กรมฯ จะยกเลิกใบอนุญาตนำเข้าทันที เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร
2.มาตรการควบคุมการขอขึ้นทะเบียนเพื่อผลิตหรือนำเข้าวัตถุอันตราย จะมีความเข้มงวดและรัดกุมมากขึ้น เช่น ใบอนุญาตจะมีอายุ 6 ปีเท่านั้น ต่างจากเดิมที่ขอครั้งเดียวใช้ได้ตลอด ดังนั้นจะเกิดการทบทวนและตรวจสอบวัตถุอันตรายที่ขออนุญาตจำหน่ายหรือนำเข้ามาในประเทศอยู่ตลอดเวลา
3.การทดสอบประสิทธิภาพวัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยที่ผ่านมากรมฯ ยอมให้บริษัทหรือผู้ประกอบการที่มาขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายเป็นผู้ทดสอบ ประสิทธิภาพสารเคมีชนิดนั้น ๆ ว่าให้ผลตามที่ฉลากระบุไว้หรือไม่ แต่ปัจจุบันกรมฯ จะเป็นผู้ทดสอบประสิทธิภาพเอง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกร สำหรับมาตรการที่ 4 นั้น จะเป็นการตรวจสอบวัตถุอันตรายที่จำหน่ายตามร้านค้าทั่วประเทศ ปัจจุบันมีร้านค้าไม่ต่ำกว่า 10,000 ร้านค้า ซึ่งกรมฯ ได้กระจายอำนาจในการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายไปในระดับภูมิภาค พร้อมกันนี้ได้ปรับปรุงห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ เพื่อให้การตรวจสอบวิเคราะห์ผลของวัตถุอันตรายมีความแม่นยำและรวดเร็ว ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าจะทำให้การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้
กรมวิชาการเกษตรได้ติดตามเฝ้าระวังวัตถุอันตรายทางการเกษตร 2 ชนิดเป็นพิเศษ ได้แก่ สารไดโครโตฟอส (dicrotophos) และ สารทู, โฟร์-ดี (2,4-dichlorophenoxyacetic) เนื่องจากเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรเฝ้าติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทั้งในโรงงานผลิต ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตการเกษตร ตลอดจนในแปลงเกษตรซึ่งยังมีการใช้สารเคมีทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังได้เร่งศึกษาและรวบรวมข้อมูล เพื่อเตรียมเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาประกาศให้สารไดโครโตฟอส และสารทู, โฟร์-ดี เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก และห้ามมีไว้ในครอบครองด้วย
ทุกวันนี้ผู้ประกอบการผลิตสารเคมีและวัตถุอันตรายทางการเกษตรถูกสังคมมองเป็นผู้ร้ายอยู่แล้ว ถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับตัวโดยหันมาประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ เลิกเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานก็จะมีผลกระทบต่อวงการเคมีเกษตรแน่นอน ที่สำคัญ ถ้าท่านขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ เมื่อเกษตรกรนำไปใช้แต่ไม่สามารถควบคุมศัตรูพืชได้ ก็ยิ่งส่งผลเสียในเชิงเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมด้วย ดังนั้น สำหรับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายกรมวิชาการเกษตรจะไม่ยกเว้น จะดำเนินการอย่างเต็มกำลังตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสร้างความปลอดภัยให้กับเกษตรกร ตลอดจนผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและสิ่งแวดล้อม
ทุกมาตรการของกรมวิชาการเกษตรที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ นับเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ที่จะสามารถเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศผู้นำด้านความมั่นคงทางอาหารและสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยได้ในที่สุด.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=20178
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า