'สับปะรดผลสด' ผลไม้ทำเงินของเกษตรกร
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 52
'สับปะรดผลสด' ผลไม้ทำเงินของเกษตรกร
"
การพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรด เพื่อบริโภคผลสดภาคใต้ตอนล่าง” เป็นผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2551 ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าว สามารถช่วยพัฒนาและยกระดับการผลิตสับปะรดในพื้นที่ภาคใต้ ช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นช่องทางที่จะช่วยสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น
นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปกติในพื้นที่ภาคใต้มีการปลูกสับปะรดกันมานานแล้วโดยปลูกในลักษณะแซมยางพารา ปลูกใหม่ (ช่วงอายุ 1-3 ปี) โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุงและสงขลา มีพื้นที่ปลูกรวม 10,000-13,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นสับปะรดรับประทานผลสดซึ่งตลาดมีความต้องการสูง แต่ที่ผ่านมา เกษตรกรสามารถผลิตสับปะรดคุณภาพดีได้เพียง 30% เท่านั้น ทั้งยังได้ผลขนาดเล็ก ขณะที่ตลาดต้องการสินค้าที่มีผลขนาดใหญ่ น้ำหนัก 1.5 กิโลกรัมขึ้นไป ทั้งยังต้องการสับปะรดเนื้อแก้วด้วย
สพว.8 จึงได้ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.) พัทลุง ศวพ.สงขลา ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรดรับประทานผลสด ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและสงขลา ตั้งแต่ปี 2549-2551 เพื่อแก้ไขปัญหาช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น
เบื้องต้นคณะนักวิจัยได้แนะนำให้เกษตร กรใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ตามมาตรฐาน GAP ผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นและเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยให้ปลูก สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย แซมยางพาราแบบแถวเดี่ยว ห่างจากแถวต้นยางประมาณ 1 เมตร ระยะ ปลูกระหว่างแถว 60-80 เซนติเมตร ระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร จำนวน 4,300-7,600 ต้นต่อไร่ พร้อมแนะนำให้ ใส่ปุ๋ย เคมีสูตร 15-5-20 อัตรา 20 กรัมต่อต้น จำนวน 2 ครั้งใน กาบใบล่าง ครั้งแรกใส่เมื่อต้นสับปะรดอายุ 1-3 เดือน และครั้งถัดไปใส่ห่างจากครั้งแรก 2-3 เดือน และยังให้เกษตรกรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอด้วย
เมื่อต้นสับปะรดอายุได้ 12 เดือน จะบังคับให้ออกดอก ด้วยสารเอทธิฟอน (39.5%) จำนวน 8 มิลลิลิตร และผสมปุ๋ยยูเรีย 300 กรัม กับน้ำ 20 ลิตร หยอดยอดสับปะรดต้นละ 60-75 มิลลิลิตร 2 ครั้ง ห่างกัน 4-7 วัน หลังจากบังคับดอก 3 เดือน แนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 อัตรา 10 กรัมต่อต้น และให้เกษตรกรแกะจุกผลสับปะรดเมื่อผลอายุประมาณ 3 เดือน สำหรับเทคนิคนี้สามารถช่วยให้มีต้นสับปะรดออกดอก ถึง 90.5% ซึ่งสูงกว่าวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่เดิมประมาณ 29.3%
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า เกษตรกรที่ ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวได้ผลผลิตสูงรวม 6,677.8-11,823.2 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นอยู่กับจำนวนต้นที่ ปลูกซึ่งสูงกว่าเดิมสูงสุดถึง 98% ทั้งยังพบว่าให้คุณภาพผลผลิตเนื้อแก้ว 56-68.2% ของผลผลิตทั้งหมด และได้ผลขนาดใหญ่ (มีน้ำหนักเกิน 1.5 กิโลกรัม) มากกว่า 85 % ช่วยให้เกษตรกรขายได้ราคาดี มีรายได้สุทธิ 49,326-57,119 บาทต่อไร่ สูงกว่าวิธีปลูกแบบเดิม 56.8-81.4% ขณะเดียวกันยังพบว่า สามารถช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรได้กว่า 30% หรือจากกิโลกรัมละ 2.30 บาท ลดลงเหลือ 1.60 บาทต่อกิโลกรัม โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีซึ่งปกติเกษตรกรจะใช้เกินความจำเป็น ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น
น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับสวนยางพาราปลูกใหม่ที่อายุต้นยางไม่เกิน 3 ปี สามารถใช้พื้นที่วางระหว่างแถวต้นยางให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างรายได้เสริม ดีกว่าทิ้งไว้ว่างเปล่า หากสนใจสามารถ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 โทร. 0-7444-5905-6 หรือ ศวพ.พัทลุง 0-7484-0130 หรือ ศวพ.สงขลา 0-7439-8201.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=20437
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า