กบนาในบ่อดินผนังคอนกรีต
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 52
กบนาในบ่อดินผนังคอนกรีต
แนวโน้มการบริโภคกบนาทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรเริ่มสนใจที่จะหันมาเลี้ยง
กบนามากขึ้น แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหลักการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ อีกทั้งยังขาดความรู้วิชาการด้านการอนุบาลกบนาในวัยอ่อนที่ถูกต้อง
นายวินัย จั่นทับทิม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า จากปัญหาดังกล่าว กรมประมงโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดร้อยเอ็ด จึงได้
ทำการทดลองเพาะพันธุ์และอนุบาลกบนาในบ่อดินผนังคอนกรีตเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จนกระทั่งประสบความสำเร็จสามารถขยายผลวิธีการเพาะเลี้ยงกบนาสู่เกษตรกร สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี
เป็นวิธีหรือนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะการนำลูกกบวัยอ่อนลงอนุบาลในบ่อดินทำให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก ประหยัดเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่าย ได้ลูกกบตามมาตรฐาน มีขนาดสม่ำเสมอ อัตราการรอดตายสูง สามารถกำหนดระยะเวลาการเพาะการอนุบาลและนำมาจำหน่ายได้ตรงกับความต้องการของตลาด
สำหรับ
วิธีการเพาะและอนุบาลกบนาในบ่อดินผนังคอนกรีต จะใช้พ่อแม่พันธุ์กบนาที่เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ขนาด 50 ตารางเมตร ขนาดน้ำหนัก 280-300 กรัม เพาะพันธุ์โดยใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติ ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ผสมพันธุ์กันเอง 8-10 คู่ หลังวางไข่กบจะฟักออกเป็นตัวภายใน 18-24 ชั่วโมง จากนั้นประมาณ 5 วัน จึงนำลูกอ๊อดลงอนุบาลในบ่อดินผนังคอนกรีตขนาด 800 ตารางเมตร โดยใช้รำผสมกับปลาป่นในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 หว่านลงบนพื้นก้นบ่อเพื่อสร้างอาหารธรรมชาติ
จากนั้นเติมน้ำสูงประมาณ 80 เซนติเมตร นำลูกอ๊อดลงบ่อให้อาหาร รำ ปลาป่น อาหารปลาดุกใหญ่ อัตรา 3 ต่อ 1 ต่อ 2 ประมาณ 1-2 กิโลกรัม หว่านให้ทั่วบ่อวันละ 4 ครั้ง อนุบาลประมาณ 15-16 วัน สังเกตพบกบมีขาหน้าและเกาะที่ขอบบ่อให้ใช้อวนตาถี่รวบรวมลูกกบมาพักไว้บนบ่อ ซีเมนต์ขนาด 50 ตารางเมตร เพื่อเร่งให้ลูกอ๊อดเปลี่ยนเป็นกบเร็วขึ้น ใส่ผักบุ้งสุมเป็นกองสูงระดับน้ำ 5-10 เซนติเมตร เมื่อนำลูกกบมาพักไว้ 3-5 วัน ให้อาหารลูกกบเม็ดเล็กหว่านให้กินรอบบ่อและกองไว้บนแผ่นโฟม ลูกอ๊อดจะเปลี่ยนรูปร่างเป็นกบทั้งหมดภายใน 5 วัน โดยวิธีการนี้ทางศูนย์ฯ สามารถผลิตลูกกบได้จำนวนมาก ซึ่งแม่กบ 1 ตัว จะมีจำนวนไข่เฉลี่ยประมาณ 230-260 ฟอง ทำให้สามารถอนุบาลลูกกบได้ประมาณ 17,856-19,195 ตัวต่อครั้ง อัตรารอดเฉลี่ย 80-86 เปอร์เซ็นต์
และจากการที่ศูนย์ฯ สามารถผลิตลูกกบได้ในอัตราการรอดตายที่สูงมาก โดยกำหนดช่วงเวลาและขนาดของลูกกบได้แน่นอน ทำให้ผลผลิตช่วงที่เป็นลูกอ๊อดอายุประมาณ 14 วัน มีการนำไปจำหน่ายในแถบภาคอีสานที่นิยมบริโภคลูกอ๊อดหรือลูกฮวกเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจำหน่ายลูกอ๊อดถือเป็นรายได้อีกทางหนึ่งในการเลี้ยงกบนา ซึ่งมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 250-300 บาท ปัจจุบันมีการแปรรูปบรรจุภาชนะส่งขายตามร้านอาหารในพื้นที่บางจังหวัดแล้ว
สำหรับผู้ที่สนใจการเพาะเลี้ยงกบนาในบ่อคอนกรีต สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเพิ่มได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดร้อยเอ็ด โทรศัพท์ 0-4356-9116 และสำนักงานประมงจังหวัดร้อยเอ็ด โทรศัพท์ 0-4351-3034 และ 0-4352-2383 ได้ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=20658
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า