การเพาะพันธุ์ปลาเทโพ
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 52
การเพาะพันธุ์ปลาเทโพ
"
ปลาเทโพ” เป็นปลาน้ำจืดของไทยที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในครอบ ครัวเดียวกับปลาสวายและปลาบึก ปลาเทโพมีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นแตกต่างกันออกไป เช่น คนหนองคายจะเรียกว่า “ปลาหูหมาด”
ส่วนคนทางอีสานใต้ เช่น จ.อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด ฯลฯ เรียกว่า “ปลาปึ่ง” ในประเทศไทยพบว่าปลาเทโพอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายต่าง ๆ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล หรือแม้แต่สาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิงและยังสามารถพบได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ด้วยปลาเทโพจัดเป็นปลาน้ำจืดที่มีรสชาติอร่อย ราคาแพงและเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ปลาเทโพที่จับได้จากธรรมชาติเหลือน้อยลง
ปัจจุบันทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุบลราชธานีได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาเทโพและมีการส่งเสริมเป็นอาชีพให้กับเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ได้ นำไปเลี้ยงในบ่อดินและเลี้ยงในกระชัง สร้างรายได้ดีให้กับเกษตรกร ทางศูนย์ฯได้แนะนำในการเตรียมพ่อ-แม่พันธุ์ปลาเทโพควรจะมีอายุประมาณ 3 ปี
โดยน้ำหนักพ่อ-แม่พันธุ์ในอายุดังกล่าวจะมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 2.5 กิโลกรัม การเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ควรเลี้ยงในบ่อดินแบบรวมเพศ ควรปล่อยพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ในอัตราส่วน 1 : 2 ในพื้นที่บ่อครึ่งไร่ปล่อยพ่อพันธุ์จำนวน 20 ตัว และแม่พันธุ์จำนวน 40 ตัว แบ่งบ่อโดยใช้ตาข่ายพลาสติกกั้นไว้เป็นสองส่วน ปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ด้านละ 30 ตัว
ในการคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ใช้วิธีการตรวจสอบความสมบูรณ์เพศของพ่อพันธุ์ ด้วยการใช้มือรีดเบา ๆ บริเวณช่องเพศจะพบน้ำเชื้อไหลออกมา สำหรับแม่พันธุ์ปลาเทโพสังเกตจากท้องที่อูมเป่ง ผนังท้องบางและนิ่ม ช่องเพศขยายตัวมีสีชมพู ดูดไข่มาตรวจสอบความสมบูรณ์ ปลาเทโพสามารถเพาะพันธุ์ได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-สิงหาคม โดยการผสมเทียม แม่พันธุ์จะตกไข่หลังจากการฉีดฮอร์โมนประมาณชั่วโมงที่ 11-12 ที่อุณหภูมิน้ำ 27-29 องศาเซลเซียส ลูกปลาจะฟักออกเป็นตัวในระยะเวลา 21-25 ชั่วโมงหลังจากตกไข่
รูปแบบการเลี้ยงปลาเทโพของเกษตรกรในเขตพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จะนิยมเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำมูล โดยซื้อลูกปลาเทโพขนาด 1-2 นิ้ว นำมาอนุบาลในกระชังมุ้งเขียวจนมีขนาดตัวประมาณ 5 นิ้ว จึงนำลงเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำมูล ขนาดของกระชังเลี้ยง 5x6x2 เมตร อาหารที่ใช้เลี้ยงส่วนใหญ่จะใช้ไส้ไก่และหัวไก่นำมาบด (ต้นทุนกิโลกรัมละ 8 บาท) ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง สลับกับการให้อาหารเม็ดปลาดุกและเศษอาหาร ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 1 ปี จะเริ่มนำปลาเทโพทยอยออกจำหน่าย ราคาจำหน่ายปากกระชังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 55 บาท.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=347&contentID=21089
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า