เมื่อวันที่ 21 กันยายน 52
ผลิตภัณฑ์ส่งออก "ข้าวโพดหวาน" แปรรูปมีให้เห็นทั่วไปในรูปของแพ็กเกจจิ้งที่บรรจุกระป๋องหรือถุงพลาสติก แต่บริษัท สยามเดลมองเต้ (ประเทศไทย) จำกัด ได้สร้างความแตกต่างของภาชนะที่บรรจุด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ "ข้าวโพดหวานกล่อง" โดยผลิตและจำหน่ายเฉพาะตลาดต่างประเทศเท่านั้น ขณะที่พฤติกรรมคนไทยนิยมบริโภคข้าวโพดสดมากกว่า ตลาดหลักข้าวโพดหวานอยู่แถบเอเชียคือญี่ปุ่น รองมาเป็นสิงคโปร์ เกาหลี ฮ่องกง และอินโดนีเซีย มาเลเซีย
นายอัฒมาส ชนะ ผู้จัดการบริษัท สยามเดลมองเต้ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัท สยามเดลมองเต้ (ประเทศไทย) จำกัดเป็นบริษัทในเครือของบริษัท สามร้อยยอด จำกัด เป็นสาขาของบริษัทเดลมองเต้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น และยังมีบริษัทลูกในแถบเอเชียอีกหลายแห่ง บริษัทได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ใช้กล่องเทตราแพ็ก (tetra pack) บรรจุ ข้าวโพดหวานส่งออกแทนการบรรจุกระป๋องหรือถุง โดยมีโรงงานผลิตอยู่ที่ อ.เขาสมิง จ.ตราด เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2548
"บริษัทใช้เงินลงทุน ซื้อเครื่องจักร 100 ล้านบาท เป็นโรงงานแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่นำนวัตกรรมข้าวโพดหวานบรรจุกล่องมาใช้ ช่วยลดภาวะโลกร้อน เพราะวัสดุที่ใช้ทำกล่องเป็นกระดาษและอะลูมิเนียมฟอยล์ นำมารีไซเคิลหรือทำลายได้ง่ายกว่ากระป๋องและถุงพลาสติก กล่องมีน้ำหนักเบา ลดต้นทุนในการขนส่ง และการบริโภคสะดวกสามารถฉีกกล่องบริโภคได้เลย"
การบรรจุข้าวโพดหวานกล่องจะต่างจากการบรรจุนม น้ำผลไม้หรือของเหลวอื่นๆ รวมทั้งการทำข้าวโพดกระป๋อง ข้าวโพดถุงที่ใช้วิธีฆ่าเชื้อก่อนบรรจุภัณฑ์ แต่ข้าวโพดหวานกล่องจะบรรจุเมล็ดข้าวโพดหวานในกล่องแล้วปรุงรสตามธรรมชาติ จากนั้นจะผนึกกล่องและผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อของแข็งด้วยความร้อน 121 องศาเซลเซียส เวลา 20 นาที เมล็ดข้าวโพดจะสุก เปิดกล่องพร้อมรับประทานได้ทันที กล่องบรรจุผลิตภัณฑ์จึงต้องมีคุณภาพจริงๆ ไม่เป็นอันตราย และรักษาความสดของรสชาติได้ดี
ปี 2548-2549 โรงงานเริ่มเดินเครื่อง ผลผลิตอยู่ที่ 5,000-6,000 ตัน/ปี และใน ปี 2551-2552 ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็น 10,000 ตัน/ปี ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2552 สามารถผลิตและส่งออกได้ 8,000 ตัน
นายอัฒมาสตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกมีผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าหลัก แต่กลับเป็นผลดีกับผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดคือญี่ปุ่น 70% เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ 20% และมาเลเซีย อินโดนีเซีย 10% มีการปรุงรสชาติข้าวโพดหวานให้ถูกกับรสนิยมผู้บริโภคด้วย เช่น ญี่ปุ่นต้องเป็นรสธรรมชาติ ไม่ใส่น้ำตาลเพื่อสุขภาพ และมีกฎหมายควบคุมปริมาณน้ำตาลด้วย กลุ่มเกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ หวานเล็กน้อย 1.5% เช่นเดียวกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นกลุ่มลูกค้ามุสลิมต้องมีตราฮาลาลรับรองด้วย
ตลาดข้าวโพดหวานจะโตสวนภาวะเศรษฐกิจโลก เปรียบเทียบได้กับการบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปในเมืองไทย ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีจะขายดีมากเพราะบริโภคแทนอาหารหลัก ที่ญี่ปุ่นตลาดหลักเช่นกันพฤติกรรมผู้บริโภคต้องการประหยัด จึงนิยมบริโภคเป็นอาหารหลัก ข้าวโพดหวาน 1 กล่อง ราคา 80-100 เยน หรือ 30 บาทเศษ เทียบกับราคาอาหารจานละ 250-300 เยน หรือ 90 บาทเศษ
ผจก. สยามเดลมองเต้บอกอีกว่า ในปี 2553-2554 บริษัทวางแผนปริมาณการผลิตส่งออกข้าวโพดหวานไว้ที่ 12,000 ตัน/ปี ทั้งนี้บริษัทจะใช้ระบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับเกษตรกร เพื่อควบคุมคุณภาพและปริมาณการผลิต ขณะนี้ผลผลิตในพื้นที่ จ.ตราด จันทบุรี สระแก้วไม่พอ ต้องนำมาจาก จ.กาญจนบุรี นครราชสีมา การขนส่งต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง เพื่อรักษาคุณภาพความสด
ขณะนี้บริษัทยังได้ศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มอาหารและผลไม้แปรรูป เช่น แกงมัสมั่น แกงเขียวหวาน ผลไม้ต่างๆ สับปะรด มะม่วงแปรรูปพร้อมรับประทาน เนื่องจากศักยภาพของเมืองไทยเป็นครัวโลก และ จ.ตราดมีผลไม้อุดมสมบูรณ์ และระบบการขนส่งจากตราดไปท่าเรือแหลมฉบังค่อนข้างสะดวก ซึ่งบริษัท เดลมองเต้ที่สิงคโปร์กำลังทำการตลาดในต่างประเทศ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 กันยายน 2552
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02phu04210952§ionid=0211&day=2009-09-21