ยางพันธุ์ใหม่กรีดได้นานกว่า 30 ปี แนะรัฐเร่งต่อยอดเตรียมรับราคายางพุ่ง
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 52
ยางพันธุ์ใหม่กรีดได้นานกว่า 30 ปี แนะรัฐเร่งต่อยอดเตรียมรับราคายางพุ่ง
ยางพารา เป็นไม้ยืนต้นที่ทรงคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีอายุยืนยาว เมื่อปลูกเป็นสวน ก็จะมีสภาพคล้ายป่า เสมือนกับการปลูกป่าที่สามารถโอบอุ้มความชื้น และนำพาให้สภาพแวดล้อมบริเวณนั้นมีความชุ่มชื้น เต็มไปด้วยความเขียวขจี ขณะเดียวกันถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีอนาคตทางการตลาดที่ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ตลอดจนมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง กับยางพาราถึง 6 ล้านคน ขณะเดียวกันความต้องการยางในตลาดโลกก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งในประเทศจีน อินเดีย และยุโรปตะวันออก
นอกจากนี้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยยังสามารถเดินทางเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค อินโดจีน ด้วยเส้นทางการค้าสายใหม่ เส้นทางอาร์ 9 จากมุกดาหาร และ อาร์ 12 จากนครพนม ซึ่งธนาคารพัฒนาเอเชีย เรียกเส้นทางสายนี้ว่า “เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจอินโดจีน” เพื่อใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้าสู่ประเทศในอินโดจีน ด้วยต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำกว่า และมีระยะเวลาที่สั้นกว่าเส้นทางเดิม จึงเป็นอีกช่องทางสำคัญที่ไทยจะส่งยางพาราไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
ยางพารา จึงนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่ควรได้รับการส่งเสริมอย่างยิ่ง และขณะนี้ราคาซื้อขายยางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางยางพารา อยู่ที่กิโลกรัมละ 67-69 บาท โดยมีการคาดการณ์ว่า ปลายปี พ.ศ. 2552 นี้ ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 80 บาท จากความต้องการของตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เกษตรกรจากโครงการยางพารา 1 ล้านไร่ มีความพอใจกับต้นยางที่เติบโตดีได้มาตรฐาน และยางพาราก็สามารถทำให้เกษตรกรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือและอีสานมีรายได้ที่ดีกว่าการปลูก พืชไร่ หรือไม้ผลเดิม ๆ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะขยายพื้นที่ปลูกยางในภาคอีสานให้มากขึ้น กระทรวงเกษตรฯได้เตรียมนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การดำเนินโครงการไทยเข้มแข็ง
การขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน และการเลือกใช้ “ยางพันธุ์ดี” ก็ถือเป็น 1 ในหัวใจสำคัญของการเพิ่มผลผลิตดังกล่าว
น่าดีใจที่ประเทศไทยมีบริษัทเกษตรชั้นยอดที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และทุ่มทุนวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ยางที่ดีอย่างต่อเนื่อง อย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด จนในที่สุดสามารถพัฒนาพันธุ์ยาง เจวีพี 80 ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 500 กิโลกรัมต่อปี
นายชิ้ม ชาวสวนยางใน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เล่ายืนยันว่า ได้ปลูกยางพาราพื้นเมือง พันธุ์เจวีพี 80 นี้มาแล้ว 36 ปี ถือเป็นสวนยางแห่งแรกที่ เจวีพี 80 มีอายุ 36 ปี และปัจจุบันยังกรีดได้ตามปกติและให้น้ำยางสม่ำเสมอ โดยสามารถกรีดได้ตั้งแต่ยางมีอายุ 6 ปี จึงไม่อยากโค่นปลูกใหม่ เพราะยังให้ผลผลิตดีอยู่
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย บอกว่า จากที่นำชาวสวนยางเดินทางไปพิสูจน์ยางพาราพันธุ์ดังกล่าวของนายชิ้ม ก็มั่นใจในพันธุ์ยางนี้ว่ามีคุณสมบัติดีจริงจึงขอฝากหน่วยงานรัฐและนักวิจัยว่าถึงเวลาแล้วที่จะนำพันธุ์ยางดีของชาวบ้านมาต่อยอด ซึ่งนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของชาวสวนยางพาราที่จะได้เลือกยางสายพันธุ์ใหม่.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=339&contentID=21417
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า