เมื่อวันที่ 21 กันยายน 52
นายบัณฑิต ตันศิริ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดในไร่มันสำปะหลังกำลังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจำนวนมาก เนื่องจากเพลี้ยแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้แม้กรมพัฒนาที่ดินจะผลิตนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ "สารเร่ง พด.7" ที่ทดสอบประสิทธิภาพแล้วพบว่า สามารถนำมาเป็นหัวเชื้อหมักกับสมุนไพรไทย 3 ชนิด ประกอบด้วย ยาสูบ หนอนตายหยาก และพริก ได้ผลป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งได้เป็นอย่างดี แต่หากมีเพียงเกษตรกรรายหนึ่งรายใดใช้ขณะที่รายอื่นไม่ได้ใช้ ก็จะยังคงพบปัญหาการระบาดต่อไปไม่หยุด
ดังนั้นกรมฯจะเร่งถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่ง พด.7 ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกจะต้องแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำหมักชีวภาพ พด.7 เพื่อป้องกันโรค จากนั้นจะต้องฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ซุปเปอร์ พด.2 เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และช่วยให้รากขยายตัว สามารถไปหาน้ำและธาตุอาหารได้ไกลขึ้น พร้อมกันนี้ต้องใส่ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ที่โคนต้น เนื่องจาก พด.12 มีสารออกซิน ช่วยเพิ่มขนาดของหัวมันได้เป็น 2 เท่า นอกจากนี้จะส่งเสริมให้ปลูกถั่วพร้าระหว่างแถวเพื่อสับกลบเป็นปุ๋ยพืชสด ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ไม่ต่ำกว่า 50%
"วิธีการต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะช่วยป้องกันเพลี้ยแป้งได้แล้ว ยังสามารถเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังจาก 2.5 ตัน/ไร่ เป็น 4.7 ตัน/ไร่ ในขณะที่ต้นทุนของเกษตรกรก็ยังลดลงจากการใช้ปุ๋ยเคมีลดลงด้วย ทั้งนี้กรมพัฒนาที่ดินตั้งเป้าจะขยายผลโครงการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังต่อไป อีก เพื่อรองรับความต้องการใช้พืชพลังงานในอนาคต โดยจะจัดโซนนิ่งปลูกมันสำปะหลัง เน้นวิธีการเพิ่มผลผลิต แต่ไม่ขยายพื้นที่ปลูก ซึ่งการเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้นอีก 30% ก็จะเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ" นายบัณฑิต กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 21 กันยายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=179659