'เกษตรอินทรีย์' หนทางรอดของเกษตรกรยุคนี้
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 52
'เกษตรอินทรีย์' หนทางรอดของเกษตรกรยุคนี้
ครั้งอดีต เกษตรกรของไทยไม่จำเป็นต้องอาศัยปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีทางการเกษตรในการเพาะปลูก เนื่องจากสภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์ จนกระทั่งมีการกล่าวขานว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่มายุคสมัยนี้ที่การผลิตสินค้าเกษตรมุ่งไปสู่การค้ามากขึ้น การเพิ่มผลผลิตจึงจำเป็น และสิ่งหนึ่งที่เกษตรกรยุคใหม่ใช้คือการเร่งการเจริญเติบโตของพืชด้วยปุ๋ยเคมีและ ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเต็มอัตรา นอกจากนี้การใช้พื้นที่ทำการเกษตรโดยขาดการปรับปรุงบำรุงดินอย่างถูกวิธี ยิ่งส่งผลให้ดินเสื่อมสภาพ เกิดการสะสมของสารเคมีในปริมาณมาก ที่สำคัญพืชไม่สามารถดึงธาตุอาหารที่มีในดินมาใช้ประโยชน์ได้ นั่นคือสาเหตุที่เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยุคปัจจุบันปัจจัยการผลิตทั้งปุ๋ยและสารเคมีล้วนปรับราคาสูงขึ้น
เกษตรอินทรีย์ จึงเป็นหนทางรอดของเกษตรกรในยุคปัจจุบัน เพราะไม่จำเป็นต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีในราคาแพงมาใช้ เพียงแค่เกษตรกรหาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเศษพืช เศษปลา ใบไม้ หรือเศษหญ้ามาหมักกับสารเร่ง พด. ของกรมพัฒนาที่ดิน ก็จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ในขณะที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเกษตรกร หันมาใส่ใจเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น สังเกตได้จากเมื่อกรมพัฒนาที่ดินมีโครงการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร มุ่งสู่การทำเกษตรอินทรีย์ จะมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 มาจนถึงปีนี้ สามารถจัดตั้งกลุ่มไปแล้วไม่ต่ำกว่า 51,000 กลุ่ม และในปีนี้ กรมฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ทดแทน สารเคมีทางการเกษตรหรือเกษตรอินทรีย์ ได้แล้ว 15.89 ล้านไร่ คิดเป็น 93.52% จากที่ตั้งเป้าไว้ 17 ล้านไร่ โดยกรมฯ ได้เข้าไปปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากเกษตรเคมีมุ่งสู่เกษตรลดการใช้สารเคมี หรือถึงขั้นเกษตรอินทรีย์ โดยการจัดตั้งกลุ่ม อบรม สาธิตวิธีการผลิตและการใช้สารอินทรีย์ทดแทนรวมทั้งสิ้น 17,284 กลุ่ม อบรมเกษตรกรจำนวน 840,663 ราย เรียกว่าขณะนี้มีกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีครอบคลุมอยู่เกือบทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ
ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กรมฯ จึงได้ตั้งเป้าส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งออก โดยกรมฯ จะเป็นตัวกลางทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ให้เข้ามาตรวจรับรองสินค้าของกลุ่มเกษตรกรที่กรมพัฒนาที่ดินจัดตั้งขึ้น เบื้องต้นตั้งเป้าส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งออกจำนวน 2 แสนไร่ โดยเน้นพืชสมุนไพร และผักที่ขนส่งสะดวก อาทิ ขิง ข่า ตะไคร้ ใบโหระพา กะเพรา พริก
ปัจจุบัน มีพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ส่งออกไปตลาดต่างประเทศแล้วไม่ต่ำกว่า 80,000 ไร่ ซึ่งตลาดยังมีความต้องการสูงมาก ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าถ้ากรมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานให้หน่วยงานเข้ามารับรองมาตรฐานสินค้าให้กับกลุ่มเกษตรกรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้ก็จะช่วยลดขั้นตอนให้กับเกษตรกร เป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้มากขึ้น ส่งผลให้จำหน่ายสินค้าได้ราคาดีขึ้นด้วย
เห็นว่าภายในปีนี้ กรมพัฒนาที่ดินเขาจะรวบรวมแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรจากทั่วประเทศมาใส่ไว้ในฐานข้อมูลสารสนเทศของกรมฯ เพื่อเปิดให้บริการกับผู้ประกอบการหรือพ่อค้าที่ต้องการติดต่อซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์กับกลุ่มเกษตรกร แต่ไม่รู้จะไปติดต่อได้ที่ไหน ก็จะได้มีช่องทางในการติดต่อ ซื้อขายสินค้ากันสะดวกยิ่งขึ้น นับเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าถึงแหล่งรับซื้อได้โดยตรงนั่นเอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=21590
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า