เมื่อวันที่ 21 มกราคม 52
มันสำปะหลัง...พืชมหัศจรรย์อีกตัวหนึ่งที่เป็นทั้งอาหารและพลังงาน แต่เกษตรกรผู้ผลิตกลับมีปัญหามากมาย ยิ่งปลูกมากเท่าไหร่กลับยิ่งจนลง
คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วย เหลือเกษตรกร (คชก.) จึงอนุมัติงบประมาณให้... กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์...เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเป็นจุดนำร่องในการ จัดการระบบการผลิต ให้สอดคล้องกับ การตลาด และสามารถดำเนินไปได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดรองรับผลผลิต ซึ่งจะเป็น ต้นแบบที่ช่วยแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำได้อย่างลงตัว
นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดระบบการผลิต เบื้องต้นกรมฯ มีแผน เร่งจดทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่นำร่อง ทุกราย พร้อมส่งเสริมการ จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรและพัฒนาไปสู่วิสาหกิจชุมชน
ปัจจุบันได้จดทะเบียนผู้ปลูกมันสำปะหลังในเขตจังหวัดนครราชสีมาและ บุรีรัมย์แล้ว 21,299 ราย จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 38,000 ราย ขณะเดียวกันยังได้ จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเพื่อเรียนรู้และพัฒนาความเข้มแข็ง 340 กลุ่ม สมาชิก 17,000 ราย มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง 6 ครั้ง ตามสภาพปัญหาและความต้องการของเกษตรกร
นอกจากนี้ยังได้จัดทำแปลงสาธิตเทคโนโลยีการผลิตครอบคลุมพื้นที่กว่า 12,870 ไร่ มีทั้งการสาธิตไถระเบิดดินดาน 3,700 ไร่ สาธิตการปลูกมันสำปะหลังด้วย ระบบน้ำหยด 20 ราย พื้นที่ 100 ไร่ จัดทำ ระบบสปริงเกอร์ 21 ราย 105 ไร่ ส่งเสริมการ ใช้ปุ๋ยพืชสด 62 ราย 364 ไร่ ส่งเสริมการใช้ ปุ๋ยอินทรีย์ 4,300 ราย 4,300 ไร่ และส่งเสริมการ ใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน 4,300 ราย พื้นที่ 4,300 ไร่ ด้วย
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกอีกว่า จากการประเมินผลผลิตแปลงสาธิตเทคโนโลยี เปรียบเทียบกับแปลงเกษตรกรข้างเคียง พบว่า แปลงสาธิตฯ ทั้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ให้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น อาทิ แปลงสาธิตไถระเบิดดินดาน (นครราชสีมา) ให้ผลผลิต สูงถึง 6.93 ตันต่อไร่ ขณะที่แปลงข้างเคียงให้ ผลผลิต 5.12 ตันต่อไร่ แปลงสาธิต การพัฒนาระบบน้ำ ให้ผลผลิตมากถึง 9.1-13 ตันต่อไร่ แปลงข้างเคียงให้ผลผลิต 3.9-5.5 ตันต่อไร่ แปลงสาธิตการ ใช้ปุ๋ยพืชสดให้ผลผลิต 8 ตันต่อไร่ แปลงข้างเคียงให้ผลผลิต 4-5 ตันต่อไร่ และแปลงเกษตรกรที่ ใช้พันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูงถึง 7.24 ตันต่อไร่ ส่วนแปลงข้างเคียงให้ผลผลิตประมาณ 4.2 ตันต่อไร่ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เกษตรกรที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ได้ผลผลิตเพิ่ม ขึ้น
สำหรับจุดขยายผลการนำร่อง โครงการจัดระบบพิเศษเฉพาะพื้นที่มันสำปะหลัง โดยคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย 2 อำเภอ 7 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 24 หมู่บ้าน ในจังหวัด กำแพงเพชร และ สระแก้ว พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น วิเคราะห์ปัญหาและวางแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับเกษตรกร ปีนี้จะเร่งจดทะเบียนเกษตรกรมี เป้าหมาย 10,000 ราย พร้อมส่งเสริมการ จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 24 กลุ่ม สมาชิก 12,000 ราย นอกจากนั้นยังสนับสนุนการจัดทำแปลงเรียนรู้ 1,380 ไร่ จัดทำแปลงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 7,200 ไร่ และถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกรด้วย
นายโอฬาร บอกอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นผู้ดำเนินการด้านการตลาด โดยดึงผู้ประกอบการลานมันหรือโรงแป้ง หรือโรงงานเอทานอลทั้งในและนอกพื้นที่มาทำสัญญารับซื้อผลผลิตหัวมันสด ทั้งยังจัดหาตลาดส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลัง เพื่อสร้างแหล่งรองรับผลิตภัณฑ์ เพิ่มโอกาสในการจำหน่าย โดยเชื่อมโยงตลาดกับผู้ผลิตอาหารสัตว์โดยตรง...
และจัดทำ ระบบคอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ในระยะยาว เมื่อมองไปในอนาคตคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสินค้าราคาตกต่ำ ทั้งยังช่วยขยายช่องทางการตลาดและทำให้ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 21 มกราคม 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=120016