'นกแสก' นักปราบหนูมือหนึ่งในสวนปาล์มน้ำมัน
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 52
'นกแสก' นักปราบหนูมือหนึ่งในสวนปาล์มน้ำมัน
หนู เป็นศัตรูพืชสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับสวนปาล์มน้ำมันทุกระยะ โดยหนูพุกใหญ่ และ หนูนาใหญ่ มักกัดทำลายต้นกล้าปาล์มน้ำมันในแปลงเพาะชำและต้นปาล์มปลูกใหม่ นอกจากนี้ยังมีหนูป่ามาเลย์ ที่เข้าทำลายปาล์มน้ำมันในช่วงให้ผลผลิต กัดกินตั้งแต่ช่อดอกอ่อน ผลปาล์มอ่อน ผลดิบ และกินกระทั่งเนื้อเปลือกผลสุก เกษตรกรหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากหนูป่า มาเลย์ที่กัดกินทะลายปาล์มสดเสียหายสะสมรุนแรง ทำให้ขายผลผลิตไม่ได้ราคา รวมทั้งยังต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีเพื่อกำจัดหนูค่อนข้างสูงแต่ก็ยังไม่สามารถปราบหนูได้ กรมวิชาการเกษตร จึงได้ศึกษาวิจัยการใช้ “นกแสก” กำจัดหนูในสวนปาล์มน้ำมันซึ่งได้ผลดีมาก
นกแสกเป็นนกประจำถิ่นของไทยซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ และเป็นนกกลางคืนที่อาศัยอยู่ใกล้ชุมชน ปกติใช้โพรงไม้และช่องใต้หลังคาเป็นรังวางไข่ กินหนูเป็นอาหาร มีพฤติกรรมล่าเหยื่อในที่โล่ง ทุ่งหญ้า ไร่นา และสวนปาล์มน้ำมัน มีการผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ เลี้ยงลูก 2 ครอกติดต่อกัน จำนวนไข่รังละ 5-7 ฟอง จำนวนต่ำสุด 2 ฟอง สูงสุด 15 ฟอง เพศเมียจะฟักไข่ประมาณ 30 วัน ใช้เวลาฟักไข่ 18 ชั่วโมงต่อวัน ระยะแม่นกฟักไข่และช่วงที่ลูกยังเล็ก ๆ พ่อนกจะออกล่าเหยื่อนำมาป้อนให้แม่และลูกนกทุกวัน
ทีมนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาส่วนประกอบของเศษอาหารที่นกแสกสำรอกออกมาในบริเวณที่นกเกาะพักนอน พบว่า นกแสกในสวนปาล์มน้ำมันของไทยกินหนูป่ามาเลย์เป็นอาหารเกือบ 100% โดยนกแสกกินหนูเฉลี่ยวันละ 1-2 ตัว หรือประมาณ 350-700 ตัวต่อปี ซึ่งหนูจำนวนนี้ถ้าปล่อยให้กัดกินผลปาล์มจะทำความเสียหายต่อผลผลิตปีละ 1.1-2.5 ตัน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียประมาณ 2,750-6,250 บาท ขณะเดียวกันเกษตรกรยังจะเสียเงินค่าซื้อสารเคมีและจ้างแรงงานวางยากำจัดหนู ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นอีก 700-1,400 บาทด้วย
นายเกรียงศักดิ์ หามะฤทธิ์ นักสัตววิทยาปฏิบัติการ สำนักวิจัยพัฒนา การอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าทีมนักวิจัย “โครงการใช้นกแสกควบคุมประชากรหนูในสวนปาล์มน้ำมัน” กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2537 ได้ศึกษาวิจัยและทดลองใช้นกแสกควบคุมหนูในสวนปาล์มน้ำมันนำร่องในสวนปาล์ม เอกชนที่ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ 15,000 ไร่ เริ่มต้นจากพ่อ-แม่นกแสก 2 ตัว พร้อมสร้างรังเทียมจำนวน 15 รัง เพื่อให้นกแสกใช้พักนอนและเพาะขยายพันธุ์ ปี พ.ศ. 2543-2544 นกแสกได้เข้าใช้รังเทียมวางไข่มากขึ้น โครงการฯจึงเพิ่มจำนวนรังนกเป็น 154 รัง พบว่า นกแสกเข้าใช้รังเพิ่มขึ้นทุกปีและประชากรนกแสกก็เพิ่มมากขึ้นประมาณ 700 ตัวใน ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งสามารถกำจัดหนูที่กัดทำลายผลผลิตปาล์มน้ำมันได้ประมาณปีละ 245,000-490,000 ตัว
ผลสำรวจการกัดทำลายของหนูบนทะลายปาล์มสดที่ตัดลงมากองรวมไว้ พบร่องรอยการกัดทำลายน้อยมาก การกัดแทะบนทะลายในสภาพรุนแรงมีไม่เกิน 5% ทำให้เจ้าของสวนพึงพอใจมากเพราะทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดหนู ปัจจุบันพื้นที่นำร่องใช้นกแสกควบคุมหนูในสวนปาล์มมีนกแสกประมาณ 1,200-1,300 ตัว ถือว่าประสบความสำเร็จมาก
ปัจจุบันได้ขยายผลโครงการฯไปสู่สวนปาล์มน้ำมันเอกชนในพื้นที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร และ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีกกว่า 12,000 ไร่ เริ่มต้นปล่อยนกแสก 30 ตัว พร้อมสร้างรังเทียมจากถังน้ำมันตั้งบนเสาสูงจากพื้นดินประมาณ 2.5 เมตร พบว่า นกแสกมีการจับคู่ผสมพันธุ์และเข้าใช้รังเทียมเร็วมาก มีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีประชากรนกแสกในพื้นที่ดังกล่าวไม่น้อย กว่า 900 ตัว จำนวน 300 รัง คาดว่าจะสามารถกำจัดหนูได้ปีละกว่า 630,000 ตัว ช่วยลดความเสียหายของผลปาล์มที่อยู่ด้านนอกของทะลายที่ถูกกัดกินมากกว่า 25% ขึ้นไป โดยมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ประมาณ 7% จากเดิมที่พบถึง 10-20% และช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าสารเคมีกำจัดหนูได้ถึง 1 ล้านบาทต่อหมื่นไร่ต่อปี
โครงการใช้นกแสกควบคุมประชากรหนูในสวนปาล์มน้ำมัน ได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมจากมูลนิธิฟอร์ดแห่งประเทศไทย ขณะนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร และกระบี่ นำนกแสกไปใช้ควบคุมหนูในสวนปาล์มด้วย รวมทั้งนาข้าวใน จ.สระแก้ว นอกจากนั้นยังมีเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือสนใจจะนำนกแสกไปใช้ควบคุมหนูในแหล่งปลูกข้าวไร่ และสวนกาแฟด้วย ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง
กลุ่มผู้ปลูกปาล์มน้ำมันสนใจที่จะใช้นกแสกควบคุมหนูในสวนปาล์ม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 08-1919-7964.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=347&contentID=21801
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า