ปลูกข้าวด้วยการโยนกล้ากำไรกว่า 4,000 บาทต่อไร่
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 52
ปลูกข้าวด้วยการโยนกล้ากำไรกว่า 4,000 บาทต่อไร่
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าวเปิดเผยว่า นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านต้นทุนการผลิตข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูข้าวสูงเกินความจำเป็นและใช้ไม่ตรงกับความต้องการของต้นข้าว โดยได้มอบหมายให้กรมการข้าวดำเนินการศึกษาวิจัยหาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตข้าวอย่างมีระบบ ซึ่งในขณะนี้กรมการข้าวได้จัดทำวิจัยโครงการการลดต้นทุนการผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่ ภายใต้ 2-V Research Program โดยได้รับเงินอุดหนุนการวิจัยโครงการฯ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (ว.ช.) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ถึงมือชาวนาโดยตรง
สำหรับการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวพบว่า การปลูกข้าวโดยวิธีโยนกล้าที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,057 บาท ต่อไร่ ในส่วนการปลูกข้าวโดยวิธีหว่านน้ำตมตามคำแนะนำมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,351 บาทต่อไร่ ในขณะที่การปลูกข้าวโดยวิธีหว่านน้ำตมของเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,179 บาทต่อไร่
“ในด้านผลกำไรพบว่าการปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้ามีผลกำไรเฉลี่ย 4,698 บาทต่อไร่ การปลูกข้าวด้วยวิธีหว่านน้ำตมตามคำแนะนำมีกำไรเฉลี่ย 3,904 บาทต่อไร่ และการปลูกข้าวโดยวิธีหว่านของเกษตรกรมีกำไรเฉลี่ย 2,686 บาทต่อไร่” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่าจากข้อมูลของคณะวิจัย กรมการข้าว พบว่าการปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้าสามารถประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้มาก เพราะใช้เพียง 4-7 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่การปลูกข้าวโดยวิธีปกติที่เกษตรกรปฏิบัติ จะใช้เมล็ดพันธุ์ 30-40 กิโลกรัมต่อไร่ และเมื่อเปรียบเทียบผลผลิตต่อไร่พบว่า การหว่านน้ำตมได้ผลผลิต 700 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่การปลูกข้าววิธีโยนกล้าได้ผลผลิต 880 กิโลกรัมต่อไร่ โดยมีความชื้นในระดับ 15%
สำหรับข้อดีของการปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวที่เป็นนาหล่ม หรือพื้นที่ที่การดำนาเข้าไปทำได้ยาก วิธีการนี้จะได้ผลดี
นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถแยกแยะวัชพืชออกจากแปลงนาข้าวได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก ในขณะเดียวกันในเรื่องการใส่ปุ๋ยสามารถทำได้พอเหมาะ กับความต้องการของต้นข้าว เพราะการปลูกข้าวแบบโยนกล้าแปลงนาจะมีความโปร่งโล่ง ซึ่งจะส่งผลให้ลดการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชได้อีกทางหนึ่ง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=22023
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า