เมื่อวันที่ 24 กันยายน 52
" พาณิชย์" เตรียมล้อมคอก AFTA ลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ในปี 2553 ด้วยการออกประกาศคุมเข้มการนำเข้าสินค้าเกษตร 10 รายการ หวังปกป้องผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าที่มีมาตรฐาน หากนำเข้าทะลักมากผิดปกติพร้อมจะงัดมาตรการปกป้องพิเศษ
นางอัญ ชนา วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ เตรียมการรองรับการเลิกโควตาสินค้าเกษตร 10 รายการตามกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งมีกำหนดจะลดภาษีเป็น 0% ในปี 2553 ว่าจะมีมาตรการดูแลการนำเข้าอย่างไร เพื่อให้มีการนำเข้าสินค้าที่มีมาตรฐานและคุณภาพต่อผู้บริโภคไทย โดยคาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้จะยกร่างประกาศบริหารการนำเข้าสินค้ากลุ่มดัง กล่าวเสร็จทุกสินค้าให้กับคณะกรรมการด้านนโยบายสินค้าเกษตรแต่ละชนิด และเสนอต่อนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
"ก่อนเปิดเสรี AFTA ไทยจำเป็นต้องบริหารการนำเข้าสินค้าให้มีความ เข้มงวดขึ้น ไม่ใช่เป็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า แต่เป็นการดูแลเพื่อให้มีการ นำเข้าสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน กรมการค้าต่างประเทศในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางจะดูแลยกร่างประกาศนี้ตาม กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และตามความเห็นของหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ตอนนี้ทำไปได้แล้วประมาณ 70% หลังจากนั้นจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีคณะกรรมการดูแลโดยเฉพาะอยู่แล้วก่อนออกประกาศต่อไป" นางอัญชนากล่าว
โดย สินค้าเกษตรที่จะเปิดเสรีทั้ง 10 รายการอาจจะมีระบบบริหารการนำเข้าที่แตกต่างกัน เช่น ให้ขออนุญาตนำเข้าใช้ automatic licensing ต้องกำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้า การกำหนดให้เป็นนิติบุคคล การมาจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้ากับกรม มีใบรับรองสุขอนามัย ป้องกันสินค้าไม่มีมาตรฐาน หรืออาจจะมีมาตรการพิเศษสำหรับสินค้าที่มีความอ่อนไหว เช่น ดูแลการนำเข้าสินค้าปลอดการตัดแต่งทาง พันธุกรรม (GMOs) ตลอดจนให้มีกระบวนการติดตามสถิติของสินค้าเป็นรายสัปดาห์ ตรวจสอบการขนส่งและเคลื่อนย้ายสินค้า แต่มาตรการเหล่านี้อาจจะมีผลบังคับใช้ครอบคลุมไปถึงประเทศผู้ส่งออกอื่นนอก อาเซียนด้วย และบางมาตรการไม่ได้กำหนดมาเฉพาะกรณีนี้แต่มีการบังคับใช้มาก่อนแล้ว
" หากสินค้ารายการใดมีการนำเข้ามากผิดปกติ ตามความตกลงก็มีข้อกำหนด ให้สามารถใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (special safeguard) ได้ หรือหากผู้นำเข้าพบว่า มีการนำเข้ามาจนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายใน ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายปกป้องสินค้า (พ.ร.บ.เซฟการ์ด) ได้เช่นกัน" นางอัญชนากล่าว
นางอัญชนากล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและใช้ประโยชน์จากการลดภาษีตามกรอบ FTA ต่างๆ โดยปรับรูปแบบธุรกิจ อาจจะเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำตลาดเองในสินค้าที่ไทยมี ศักยภาพส่งออกหลายรายการ เช่น ข้าวไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดนี้ได้ ไม่ใช่ เพียงปกป้องกันการนำเข้าอย่างเดียว หากประเทศเพื่อนบ้านไม่นำสินค้ามาจำหน่ายให้ไทยก็สามารถไปขายให้ประเทศอื่น ได้
สำหรับสินค้า 10 รายการประกอบด้วย 1)มะพร้าว 2)เนื้อมะพร้าว 3)น้ำมันมะพร้าว 4)น้ำนมดิบ/นมปรุงแต่ง 5)นมผงขาด มันเนย 6)ชา 7)เมล็ดกาแฟ 8)กาแฟคั่วและผลิตภัณฑ์กาแฟ 9)เมล็ดถั่วเหลือง และ 10)ข้าว โดย 8 รายการแรกจะลดภาษีเป็น 0% ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ยกเว้นเนื้อมะพร้าวกับเมล็ดกาแฟ ซึ่งจัดอยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวจะคงอัตราภาษีที่ 5% กรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานกลางที่จะยกร่างประกาศนี้
โดย อาศัยกฎหมายเกี่ยวกับการส่งออก-นำเข้า ซึ่งมีหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ.2495 พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำบางอย่างในการขนส่งสินค้าขาออกทางเรือ พ.ศ.2511 พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 กันยายน 2552
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02inv04240952§ionid=0203&day=2009-09-24