ยกระดับอาชีพประมงไทยสู่ผู้นำแห่งเอเชีย
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 52
ยกระดับอาชีพประมงไทยสู่ผู้นำแห่งเอเชีย
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกรมประมงเนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนาปีที่ 83 ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมาว่า กรมฯ ได้ปฏิบัติภารกิจให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามกรอบยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อนำประโยชน์สูงสุดมาสู่ประชาชน
โดยได้มีการดำเนินนโยบายอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีการถ่ายทอดความรู้และวิทยาการต่าง ๆ แก่เกษตรกร ชาวประมง และผู้ประกอบการ ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำให้มีคุณภาพ และมีมาตรฐานความปลอดภัย สร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภคทั่วโลก จนในปัจจุบันสินค้าประมงของไทยติดลำดับ 1 ใน 10 ของโลก สร้างมูลค่าการส่งออกได้ปีละกว่า 2 แสนล้านบาท
โดยในรอบปีที่ผ่านมามีการรังสรรค์ผลงานจนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้านด้วยกัน อาทิ ด้านการศึกษาวิจัย ได้แก่ การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อการบริโภค เช่น กุ้งทะเล กุ้งก้ามกราม ปลากะพง ปลาเก๋า โดยพบว่าสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ปลาช่อนทะเล ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากะรังจุดฟ้า เป็นต้น การปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและมีอัตราการเจริญเติบโตได้ดี เช่น ปลานิลจิตรลดา 3 ปลานิลแดง ปลานิลแดงทนเค็มสายพันธุ์ปทุมธานี กุ้งก้ามกรามสายพันธุ์ดี
มีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร โดยฝึกอบรมเทคนิคการเพาะเลี้ยงให้แก่เกษตรกรเพื่อให้สามารถเพิ่มรายได้มากขึ้น ซึ่งพร้อมจะถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่กลุ่มเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพอย่างครบวงจร ได้จัดทำมาตรฐานและตรวจสอบตั้งแต่ระดับไร่นาถึงโต๊ะอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มแล้วทั้งสิ้น 53,996 ฟาร์ม และกำลังดำเนินการพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์มอีกด้วย
เน้นการฟื้นฟูและรักษาสมดุลของทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยกำหนดเขตรักษาพืชพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ และการสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ รวมทั้งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศประมาณ ปีละ 2,000 ล้านตัว มีการเก็บน้ำเชื้อด้วยวิธีแช่แข็งที่เรียกว่า “ธนาคารเชื้อพันธุ์สัตว์น้ำ” โดยขณะนี้สามารถเก็บรักษาน้ำเชื้อพันธุ์สัตว์น้ำได้แล้ว 49 สายพันธุ์ ที่สำคัญ เช่น ปลาบึก ปลาเสือตอลายเล็ก ปลาเทโพ ปลาดุกอุย ฯลฯ และสามารถสร้างชุมชนประมงต้นแบบได้จำนวน 127 ชุมชน
มีความพยายามลดต้นทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการเปิดการค้าเสรี ซึ่งในกรอบอาเซียนจะมีผลบังคับเดือนมกราคม 2553 นี้ และจะส่งเสริมให้นักวิชาการวิจัยผลิตสัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ ๆ เชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร สัตว์น้ำตัวเดิมคือปลานิล กำลังทำการยกระดับมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานิลเพื่อการส่งออก ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งอีกด้วย ซึ่งโครงการและการดำเนินงานต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นผลให้อาชีพด้านการประมงไทยสามารถก้าวสู่ผู้นำด้านนี้ในเอเชียอย่างแน่นอน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=22232
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า