เร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและถั่วเหลืองคุณภาพ 78,700 ตัน
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 52
เร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและถั่วเหลืองคุณภาพ 78,700 ตัน
ด้วยสภาพของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมหลัก โดยสมาชิกเกษตรกรจำนวนมากทำการผลิตข้าวและถั่วเหลือง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าข้าวและถั่วเหลืองเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญในการดำเนินงานของธุรกิจสหกรณ์ และจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของการผลิต แต่ในการเพาะปลูกของสมาชิกเกษตรกรนั้น ปรากฏว่าเกษตรกรจำนวนมากขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ เนื่องจากสมาชิกของสหกรณ์ส่วนมากใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้เองหรือหาซื้อจากผู้รวบรวมทั่วไป ทำให้เมล็ดพันธุ์ที่สมาชิกใช้ในการเพาะปลูกไม่มีคุณภาพทั้งในด้านพันธุกรรม และอัตราความงอก ซึ่งส่งผลให้คุณภาพของผลผลิตไม่แน่นอน
ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยความร่วมมือของกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพผลิตผลการเกษตรของสถาบันเกษตรกร การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและถั่วเหลืองในสถาบันเกษตรกรขึ้น โดยเริ่มดำเนินโครงการในฤดูกาลผลิต 2538/2539 ที่ผ่านมา
และล่าสุด นายวินัย กสิรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ณ วันนี้ความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีของเกษตรกรทั่วทั้งประเทศมี เพิ่มขึ้นเป็น 510,000 ตัน/ปี จึงจัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวและถั่วเหลืองพันธุ์ดีแก่เกษตรกร ในสถาบันเกษตรกร ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2553-2555) โดยร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนสหกรณ์ในโครงการดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและถั่ว เหลืองและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีมีคุณภาพสู่เกษตรกร
ซึ่งโครงการดังกล่าว จะสนับสนุนสหกรณ์ภาคเกษตร ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและถั่วเหลืองมานาน และสหกรณ์ส่วนใหญ่ที่มีโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ขนาด 48 ตันต่อวัน มีอยู่ถึง 65 แห่ง และยังมีห้องตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ 19 ห้อง กระจายในพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ โดยจะเริ่มดำเนินการ ใน 39 จังหวัด 75 สหกรณ์ ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 10,250 คน เกิดการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวและถั่วเหลืองที่มีคุณภาพไปสู่สมาชิกสหกรณ์รวม 3 ปี ประมาณ 78,700 ตัน คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,735 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการเก็บรักษาก็ดี อัตราความเร็วในการเสื่อมคุณภาพก็ดี เป็นลักษณะเฉพาะตัวของเมล็ดพันธุ์พืชแต่เมื่อการผลิตและเก็บเกี่ยวตลอดถึงการเก็บรักษาที่อยู่ภายใต้การควบคุมที่ถูกต้องตามหลักวิชาการก็ย่อมที่จะหมายถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อนำไปเพาะปลูกก็ย่อมที่จะได้ผลผลิตที่ดีและเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่ต้องการนั่นเอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=22236
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า