เมื่อวันที่ 28 กันยายน 52
ในที่สุดมหันตภัยจากเพลี้ยแป้งที่ระบาดในไร่มันสำปะหลังในหลายพื้นที่ก็หวนกลับมาระบาดอีกครั้งหนึ่งทั้งที่ภาคอีสานและภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ลพบุรี และกาญจนบุรี
หลังจากระบาดมาแล้วก่อนหน้านี้จนสร้างความเสียหายให้พื้นที่เพาะปลูกนับล้านๆ ไร่ และสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรอย่างทั่วหน้า ในขณะที่ภาคเหนือและภาคกลาง อย่างที่น่าน ลำปาง รวมถึง จ.สุพรรณบุรี เกษตรกรต้องรับมือการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว
ก่อนหน้านี้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังว่า จากข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจในพื้นที่การปลูกมันสำปะหลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และสมาคมการค้ามันสำปะหลัง พบว่า การระบาดของเพลี้ยแป้ง รอบใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ลพบุรี และกาญจนบุรี จึงเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือน ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังรับทราบ โดยเฉพาะในอีก 2 เดือนข้างหน้า ถ้าเกิดสภาพอากาศแห้งแล้งก็จะทำให้เพลี้ยแป้งระบาดมากยิ่งขึ้น
จากการที่ทีมข่าวภูมิภาคเครือเนชั่นออกไปสำรวจพื้นที่การระบาดของเพลี้ยแป้ง ในไร่มันสำปะหลังของ จ.นครราชสีมา พบว่า มีการระบาดทั้ง 32 อำเภอ เริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2552 เป็นต้นมา สร้างความเสียหายแก่มันสำปะหลังของเกษตรกรกว่า 1 ล้านไร่ จากพื้นที่มันสำปะหลังของ จ.นครราชสีมาทั้งหมดประมาณ 2.1 ล้านไร่ แต่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมาออกรณรงค์ให้ทุกพื้นที่ช่วยกันทำลายและหา การป้องกันจนสามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว แต่พอเริ่มการเพาะปลูกใหม่ เพลี้ยแป้ง กลับมาอีกครั้ง แหล่งใหญ่ในพื้นที่คือ อ.ครบุรี เสิงสาง หนองบุญมาก รวมถึง อ.เมือง จ.นครราชสีมา สร้างความเสียหายระลอกใหม่กว่า 8 หมื่นไร่
นางกุหลาบ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เล่าว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ลงทุนปลูกมันสำปะหลังบนเนื้อที่ 350 ไร่ ใช้เงินลงทุนไปกว่า 5 แสนบาท แต่กลับถูกเพลี้ยแป้ง มันสำปะหลังระบาดทำลายกัดกินต้นมันสำปะหลังจนเสียหายทั้งหมด ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ จึงตัดสินใจไถทิ้งทั้งแปลงแม้ไม่ได้เงินกลับมาแม้แต่บาทเดียว และยังไม่ได้รับค่าชดเชยจากหน่วยรัฐบาล แต่ยังตัดสินใจมาปลูกมันสำปะหลังอีก สุดท้ายเพลี้ยแป้งมาระบาดอีกจนต้นมันสำปะหลังตายไปแล้วกว่าครึ่ง
ด้าน นายสวัสดิ์ บึงไกร เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่กำลังเกิดจากสภาวะฝนทิ้งช่วงในห้วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จึงเหมาะแก่การแพร่ขยายพันธุ์ของเพลี้ยแป้ง ที่ยังหลบซ่อนอยู่ภายในดิน และพืชชนิดอื่นจึงกลับมาระบาดกัดกินต้นมันสำปะหลังอีกครั้ง จึงสั่งการให้เกษตรอำเภอทุกอำเภอติดตามให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เท่าที่ได้รับรายงานในช่วงนี้มีมันสำปะหลังใน จ.นครราชสีมา เสียหายจากเพลี้ยแป้งระบาดระลอกใหม่กว่า 8 หมื่นไร่
ขณะที่ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี จากการสำรวจเพลี้ยแป้ง ระบาดหนักพบว่าเสียหายไปกว่า 3 หมื่นไร่ มีเกษตรกรไล่พ่นยากำจัดปรากฏว่าเสียชีวิตไป 1 ราย ทั้งนี้ นายไพโรจน์ อาจคงหาญ อดีต ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 16 ต.หนองปลิง อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ตอนนี้เพลี้ยแป้งกำลังระบาดที่ไร่มันสำปะหลังในเขตพื้นที่ ต.หนองปลิงอย่างหนักในรอบ 30 ปี ไร่มันเสียหายกว่า 3 หมื่นไร่ มีชาวบ้านพ่นยากำจัดเพลี้ยเสียชีวิตก่อนเพลี้ยอีกแล้ว 1 ราย คือ นางเสนาะ ปั้นหว่าง อายุ 57 ปี ซึ่งได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแต่ไม่ค่อยได้รับความสนสนใจ
นายโกศล ทรัพย์จันทร์ สมาชิก อบต.หนองปลิง กล่าวว่า ปลูกมันสำปะหลัง 200 ไร่ กรมวิทยาการการเกษตรจังหวัดชัยนาท มาขอใช้พื้นที่ 20 ไร่ เพื่อทำแปลงทดลองปลูกมันสำปะหลังพันธุ์เขียวปลดหนี้ พันธุ์ระยอง 9 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าทั้ง 3 สายพันธุ์ให้น้ำหนักและผลผลิตดีกว่าพันธุ์อื่นๆ พอปลูกได้ 5 เดือนต้นสูงจากพื้นดินราว 30 ซม. มีแต่รากไม่มีหัว และถูกเพลี้ยแป้งระบาดทั้ง 20 ไร่
ทั้งเพลี้ยแป้งและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลนับเป็นมหันตภัยอย่างใหญ่หลวงของเกษตรกรที่สร้างความเสียหายทั้งผลผลิตและรายได้อย่างมหาศาล
สุพรณณฯ-น่าน-ลำปางเจอเพลี้ยกระโดด
ด้าน จ.สุพรรณบุรี ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุพรรณบุรี ได้สำรวจแปลงติดตามสถานการณ์ พบว่ามีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น จึงเตือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวเฝ้าระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำความเสียหายแก่ข้าว เนื่องจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดหนักจึงประกาศให้ จ.สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และรีบดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า เกษตรกรที่ทำนาใน จ.สุพรรณบุรี ได้รับความเดือดร้อนเรื่องเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปีนี้ระบาดหนักในพื้นที่หลายอำเภอ มีที่นาที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 143,484 ไร่ จังหวัดได้ประสานไปที่สำนักงานเกษตรจังหวัด ศูนย์บริหารศัตรูพืช และศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี และอบต.ในพื้นที่ที่ประสบภัย ดำเนินการตรวจสอบเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เกษตรกรที่ประสบภัยแล้ว พร้อมทั้งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติทั้ง 3 อำเภอ
ด้านนายศุภชัย แตงสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี กล่าวว่า พื้นที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลกำลังระบาด คือ พื้นที่ อ.เมือง อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง ทำให้ผลผลิตข้าวไม่สมบูรณ์ โดยเพลี้ยกระโดด สีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ท่อนำอาหาร บริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้ง ลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อมๆ การป้องกันคือให้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ต้านทานเพลี้ยกระโดด สีน้ำตาล เช่น สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุ รี2 สุพรรณบุรี 3 สุพรรณบุรี 90 ปทุมธานี 1 พิษณุโลก 2 ชัยนาท 1 และชัยนาท 2 ไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดู
ส่วนที่ จ.น่าน เพลี้ยกระโดดระบาดหนักใน 3 ตำบล ของ อ.เมืองน่าน โดยนายปกรณ์ กามนต์ เกษตรอำเภอเมืองน่าน บอกว่า การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้รับความเสียหายแล้ว 4 หมู่บ้านของ ต.ไชยสถาน รวมจำนวนกว่า 2 หมื่นไร่ หลังจากที่ไม่ได้พบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมานานกว่า 4 ปี ขณะที่ลำปาง เกิดอากาศแปรปรวน ทั้งร้อน-ฝนตก พบเพลี้ยกระโดดหลังขาวระบาดในพื้นที่ อ.เถิน แม่พริก และสบปราบ เสียหายแล้วกว่า 100 ไร่
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 28 กันยายน 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090928/30200/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%