สหรัฐปลูกข้าวใกล้หอมมะลิตั้งชื่อเลียนแบบอีก 'แจสแมน'
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 52
สหรัฐปลูกข้าวใกล้หอมมะลิตั้งชื่อเลียนแบบอีก 'แจสแมน'
นางสมรรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก สหรัฐ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์วิจัยและค้นคว้าเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยลุยเซียนา มลรัฐลุยเซียนา สหรัฐ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ได้ค้นคว้าและพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ แอลเอ 2125 มีคุณภาพทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทย และตั้งชื่อคล้ายคลึงกันว่า แจสแมนเพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทย ส่วนข้าวหอมมะลิไทยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า จัสมิน ซึ่งในฤดูการผลิตปี 52/53 ได้นำเมล็ดพันธุ์ไปให้ชาวนาเพาะปลูกเพื่อการค้าแล้ว
สำหรับข้าวแจสแมน ศูนย์วิจัยฯได้เริ่มการทดลองผสมพันธุ์ตั้งแต่ปี 2509 โดยนำข้าวกลิ่นหอมของจีนสายพันธุ์ 96a-8 มาผสมกับข้าวเมล็ดยาวของรัฐอาร์คันซอ ใช้เวลา 12 ปีจึงเป็นผลสำเร็จ และอ้างว่ามีคุณภาพความหอมทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทย และสามารถแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทยได้แน่นอน เพราะข้าวดังกล่าวมีความหอม และนิ่ม ที่สำคัญให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณไร่ละ 1,265 กิโลกรัม ขณะที่ข้าวไทยมีผลผลิตประมาณไร่ละ 400 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งชาวนาผู้ปลูกข้าวดังกล่าว ยืนยันว่า ชาวนาในลุยเซียนาจะหันมาปลูกข้าวนี้มากขึ้น และช่วยทดแทนการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยได้
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์คริสโต เฟอร์ ดาเรน ประจำสถาบันวิจัยข้าว มหาวิทยาลัยอาร์คันซอ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวิจัยข้าวหอมมะลิให้ข้อคิดเห็นว่า ข้าวดังกล่าวเป็นข้าวหอมพันธุ์ดีที่สุดของสหรัฐ แต่ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับข้าวหอมมะลิไทยได้ เพราะข้าวหอมมะลิไทยมีคุณสมบัติพิเศษเป็นของตัวเอง และเป็นธรรมชาติ ซึ่งข้าวพันธุ์อื่น ๆ ไม่สามารถให้พัฒนาได้ทัดเทียม หรือมาแข่งขันได้ จึงเชื่อมั่นว่า ข้าวหอมมะลิไทยมีคุณภาพดีที่สุดในโลก
“หากชาวนาสหรัฐปลูกข้าวชนิดใกล้เคียงหอมมะลิไทยมากขึ้น จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิไทยในสหรัฐได้ และทำให้สหรัฐนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยลดลงในอนาคต ส่งผลให้ราคาข้าวหอมมะลิไทยราคาตกต่ำลง”
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ยังไม่น่าห่วงว่าข้าวดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวหอมมะลิไทยในสหรัฐ ที่มีปริมาณส่งออกเฉลี่ยปีละ 400,000 ตัน เพราะในความเป็นจริงกว่าข้าวแต่ละชนิดจะเป็นที่ยอมรับจากตลาดต้องใช้เวลาหลายปี และข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้าพรีเมี่ยม ที่ตลาดยอมรับมานาน และมีคุณค่าทางตลาด แต่ต้องจับตาว่าข้าวดังกล่าวมีลักษณะทางกายภาพเหมือนหรือ ต่างจากข้าวหอมมะลิของไทยอย่างไร หากใกล้เคียงกันอาจต้องระวังว่าจะมีการนำมาผสมกับข้าวหอมมะลิไทยก่อนวางจำหน่าย แต่หากไม่เหมือนกันก็ถือว่าเป็นคนละตลาด.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 กันยายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentID=22734
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า