เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 52
นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การส่งเสริมปลูกยางพาราในโครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ที่ผ่านมาพบว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางใหม่ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งจากการติดตามลงพื้นที่เกษตรกรมีความพึงพอใจถึงร้อยละ 90 และยังมีเกษตรกรและประชาชนทั่วไปปลูกยางโดยไม่อยู่ในโครงการอีก 2 ล้านไร่ รวมทั้งสิ้น 3 ล้านไร่
" จากการสำรวจพื้นที่ปลูกยางพาราในประเทศไทยในปี 2551 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศประมาณ 16.74 ล้านไร่ และจากการสำรวจพื้นที่ปลูกยางพาราของกรมวิชาการเกษตรพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อการปลูกยางพารากว่า 9 ล้านไร่ ซึ่งหากภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีการประเมินและเล็งเห็นถึงศักยภาพพื้นที่ ว่ามีความเหมาะสมต่อการปลูกยางพารา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมที่จะผลักดันการส่งเสริมปลูกยางพาราเข้าสู่การดำเนินโครงการไทยเข็มแข็งในการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา เพื่อให้เกษตรกรในในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีโอกาสปลูกยางพารา ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงสู่เกษตรกรแล้ว ยังเป็นการช่วยลดปัญหาสังคมเมือง ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไปในระยะยางได้อีกด้วย" นายศุภชัย กล่าว
ใน ปี 2551 ที่ผ่านมา ยางพารา รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยาง เป็นสินค้าส่งออกและทำรายได้เป็นอันดับ 3 ของประเทศ คิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 402,582 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการส่งออกในรูปยางแผ่นดิบ 223,628 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ยาง 149,914 ล้านบาท ไม้ยางพาราแปรรูปและผลิตภัณฑ์จากไม้ยาง 290,400 ล้านบาท ทั้งนี้ประเทศไทยมีปริมาณการผลิต 3.09 ล้านตัน ส่งออกในรูปวัตถุดิบ 2.68 ล้านตัน แต่มีปริมาณการใช้เพื่อการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศเพียง 397,595 ตัน หรือร้อยละ 12.87 ของประมาณการผลิต คิดเป็นมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางกว่า 5 เท่า ของมูลค่าการส่งออกยางดิบ ดังนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมยางทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จะก่อให้เกิดรายได้ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ประเทศชาติเป็นอย่างมาก เช่น อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ อุตสาหกรรมถุงมือยาง เป็นต้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 2 ตุลาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=181311