เครื่องคัดหอยแครง ทุ่นแรงทุ่นเวลา
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 52
เครื่องคัดหอยแครง ทุ่นแรงทุ่นเวลา
นับแต่ การแข่งขันทางด้านสินค้าการเกษตรเริ่มรุนแรงขึ้น แน่นอนสิ่งหนึ่งที่จะปฏิเสธไม่ได้ และเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแข่งขันของแต่ละประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลกก็คือ เทคโนโลยี
และถ้าจะนับ “
เครื่องคัดหอยแครง” ผลงานวิจัยของ นายพรศักดิ์ จิตรอำไพ และ นายยุทธพงษ์ ศรีทา นักศึกษาจากสาขาวิชาเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี มี ผศ.สุเมธ พลับพลา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมทางด้านการเกษตรและการแข่งขัน ก็คงไม่ผิดนัก แม้ว่าเจ้าของผลงานจะออกตัวว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้คิดเครื่องคัดหอยแครงขึ้นนั้นเกิดจากความต้องการที่จะช่วยทุ่นแรง ทุ่นเวลา ค่าใช้จ่ายของเกษตรกรเท่านั้นก็ตาม
ตัวเครื่องที่ถูกออกแบบมาอย่างแข็งแรง ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อให้เหมาะกับเกษตรกร อีกทั้งผู้วิจัยยังเลือกใช้วัสดุที่แข็งแรงคงทนทั้งน้ำหนัก แรงกระแทก และน้ำเค็ม ก็คือจุดเด่นของผลงานชิ้นดังกล่าว
ส่วนหลักการทำงานของเครื่อง เจ้าของงานวิจัยอธิบายว่า “เครื่องนี้ทำงานด้วยสกรูลำเลียงและเพลากระรอก ซึ่งจะทำงานเป็นชุดเดียวกัน โดยสกรูจะทำหน้าที่ในการลำเลียงหอยแครงด้วยมอเตอร์ขนาด 0.5 แรงม้า ไปตามเพลากระรอกและเพลากระรอกจะเป็นตัวทำหน้าที่คัดขนาดหอย ผ่านตะแกรงซึ่งสามารถคัดได้ 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก (1.5 ซม.) กลาง (2.5 ซม.) ใหญ่ (3 ซม.) ตลอดการทำงานเครื่องจะมีฝาปิด มีเพียงหอยแครงที่ถูกคัดแยกแล้วเท่านั้นไหลออกมาตามช่องคัดแยก จึงมีความปลอดภัยกับผู้ใช้อย่างแน่นอน
พรศักดิ์ บอกอีกว่า จุดประสงค์ในการประดิษฐ์เครื่องคัดหอยแครงขึ้นก็ต้องการให้เกษตรกรได้นำไปใช้ได้จริง ๆ เพราะถ้าจะเทียบกันแล้วปกติหอยแครง 1 ตัน จะใช้คนคัดประมาณ 7 คน ใน 1 ชั่วโมง ซึ่งถ้าเป็นเครื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นจะสามารถทำงานแทนคนได้ โดยใช้แรงงานคนเพียงคนเดียวคือคนที่ต้องเทหอยลงเครื่องคัดแยกก็สามารถแยกหอยได้ในปริมาณและเวลาเท่ากัน ทุ่นแรงงานได้ตั้ง 6 คน
นอกจากจะเล่าถึงเครื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นแล้วเจ้าของผลงานยังเล่าว่า การคัดขนาดหอยมีความสำคัญไม่น้อยเลย เพราะนอกจากจะนำไปกำหนดราคาและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าได้หอยในขนาดที่ต้องการและเป็นธรรมแล้ว หอยที่ถูกคัดออกหมายถึงที่มีขนาดเล็กเกินไป (ขนาดเล็กกว่า 1.5 ซม.) ก็จะถูกนำไปปล่อยเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
กลุ่มเกษตรกร หรือผู้ที่สนใจก็สามารถสอบถาม ปรึกษา ขอรายละเอียดไปได้ที่ ผศ.สุเมธ พลับพลา สาขาวิชาเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 08-1866-1005.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=24062
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า