เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 52
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยว่า จากการที่ไทยต้องยกเลิกมาตรการโควตาภาษีในสินค้าเกษตร 23 รายการ ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 กระทรวงเกษตรฯได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรการรองรับผล กระทบจากการเปิดเสรีดังกล่าว โดยวาง 3 แนวทางหลัก ได้แก่
1.การบริหารการนำเข้า ด้วยการกำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้า และแจกแจงเอกสารประกอบที่ใช้ครั้งต่อครั้ง
2.ระบบติดตามการนำเข้า ต้องมีการรายงานข้อมูลสต๊อก และ
3.มีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลเป็นประจำ โดยแต่ละแนวทาง จะมีรายละเอียดต่างกันตามคุณลักษณะและการตลาดของสินค้าแต่ละรายการและมีคณะ กรรมการชุดต่างๆ ดูแล เช่น คณะกรรมการนโยบายอาหาร คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ
ขณะที่ในส่วนคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์นั้น มีสินค้าที่อยู่ในความดูแล 5 รายการ โดย 2 รายการ คือ ลำไยแห้ง และ พริกไทย เคยมีการวางมาตรการรองรับผลกระทบไปแล้ว เนื่องจากมีการยกเลิกโควต้าและลดภาษีไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมทั้งคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีตามข้อตกลงอาฟต้า จึงให้ยึดมาตรการเดิมที่ใช้มา
ส่วนสินค้าอีก 3 รายการ คือ ชา กาแฟสำเร็จรูป และเมล็ดกาแฟ นั้น คณะกรรมการได้เห็นชอบให้ใช้มาตรการรองรับภายใต้แนวทาง 3 ข้อข้างต้น โดยในส่วนของชาและกาแฟสำเร็จรูป คาดว่า จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่สำหรับเมล็ดกาแฟ ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวและอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าคู่แข่ง จึงมีการกำหนดเงื่อนไขในการนำเข้าตามข้อตกลงอาฟตาว่า จะต้องมีใบรับรองปลอด GMOs เป็นเอกสารประกอบในการนำเข้าด้วย และให้นำเข้าเฉพาะเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้สำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พิจารณาผลกระทบจากการเปิดตลาดสินค้าเกษตร 23 รายการ ในเชิงลึก เพื่อหามาตรการเชิงรุก-เชิงรับในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศและเยียวยา เกษตรกรอย่างรอบด้านด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 5 ตุลาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=181723