'เพลี้ยแป้ง' ศัตรูมันสำปะหลังที่ต้องเร่งกำจัด
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 52
'เพลี้ยแป้ง' ศัตรูมันสำปะหลังที่ต้องเร่งกำจัด
ขณะที่รัฐบาลเร่งดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้ชาวไร่มันสำปะหลังมีรายได้ที่แน่นอนและทั่วถึงทุกคน แต่การผลิตมันสำปะหลังของประเทศไทยในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาการระบาดของศัตรูพืชสำคัญคือ
เพลี้ยแป้งชนิดสีชมพู ซึ่งสร้างความเสียหายและทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้หามาตรการเร่งด่วนเพื่อการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเพื่อตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าวก่อนที่จะแพร่ขยายเป็นวงกว้างจนไม่สามารถควบคุมได้ และสร้างความเสียหายต่อการผลิตและการส่งออกผลผลิตมันสำปะหลังของประเทศ
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึง
สถานการณ์การระบาดของเพลี้ยแป้งชนิดสีชมพูในมันสำปะหลังว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ 18 จังหวัด ที่มีการเพาะปลูกมันสำปะหลังติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังอย่างใกล้ชิด ล่าสุดพบว่าปัญหาฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้พื้นที่ระบาดขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังได้รับความเสียหายจากการทำลายของเพลี้ยแป้งรวมไม่น้อยกว่า 462,675 ไร่ทั่วประเทศ แยกเป็นพื้นที่ระบาดไม่รุนแรงจำนวน 232,882 ไร่ และพื้นที่ระบาดรุนแรง 229,793 ไร่ โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ระบาดสูงถึง 198,638 ไร่ กาญจนบุรี 164,445 ไร่ และบุรีรัมย์ จำนวน 37,996 ไร่ คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1,302 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กันยายน 2552)
จากพื้นที่การระบาดทั้งหมดพบพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่มีการระบาดใหม่ ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จำนวน 17,717 ไร่ และจังหวัดนครสวรรค์ประมาณ 20,000 ไร่ อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันมันสำปะหลังไม่ ให้เสียหายเพิ่มมากขึ้นจากการทำลายของเพลี้ยแป้ง และเป็นการตัดวงจรของเพลี้ยแป้งไม่ให้แพร่ระบาดในพื้นที่เดิมและลุกลามกระจายไปสู่แหล่งปลูกอื่น ๆ กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการหามาตรการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างเร่งด่วนในพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้ง ซึ่งกรมจะต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในต้นเดือนตุลาคมนี้
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า
มาตรการการดำเนินงานจะเน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องสร้างความร่วมมือในการกำจัดเพลี้ยแป้งอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยให้ตัดยอดมันสำปะหลังเพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดอยู่กับยอด ขณะเดียวกันยังจะสนับสนุนให้ฉีดพ่นสารเคมีในพื้นที่ระบาดด้วย พร้อมส่งเสริมให้ใช้ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งมาช่วยในการควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งด้วย ได้แก่ การพ่นเชื้อราบิวเวอเรีย และการปล่อยแมลงช้างปีกใส ซึ่งคาดว่าจะสามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งในพื้นที่ระบาดอย่างได้ผล สามารถลดความสูญเสียจากการทำลายของเพลี้ยแป้ง และช่วยรักษาผลผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรได้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรมีการสำรวจสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยแป้ง และมีการผลิตขยายศัตรูธรรมชาติเพื่อใช้ในการควบคุมเพลี้ยแป้งด้วย นอกจากนั้นยังควบคุมไม่ให้เคลื่อนย้ายกิ่งพันธุ์ออกจากพื้นที่ระบาด การรณรงค์ไม่ให้ใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีการระบาด และรณรงค์ให้แช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยสารเคมีก่อนปลูก โดยแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลงไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 5 นาที หรืออาจแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำสะอาดอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยกำจัดเพลี้ยแป้งที่อาจติดมากับท่อนพันธุ์ได้
อย่างไรก็ตามหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการควบคุมเพลี้ยแป้งสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ศูนย์บริหารศัตรูพืชในพื้นที่ หรือศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการระบาดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 0-2579-5178, 0-2579-0280.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=24057
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า