เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 52
แม้ว่าขณะนี้สหพันธรัฐรัสเซียจะให้ความสนใจผลผลิตทางการเกษตรของไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวเมล็ดสั้นและเมล็ดยาว รวมทั้งผัก ผลไม้ มันฝรั่งอบ และถั่วประเภทต่างๆ เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพดี เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญอย่าง จีน และเวียดนาม ที่เข้ามาเจาะตลาดในภูมิภาคนี้มานานแล้ว แต่ปัญหาที่ผ่านมา
การประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรไทยในภูมิภาคนี้ยังมีน้อย ทั้งที่ในรัสเซียมีบริษัทที่สนใจสินค้าไทยเป็นจำนวนมาก และพร้อมจะนำเข้าสินค้าไทย คลังสินค้าเกษตรกรรม อาหารแห้ง วัสดุก่อสร้างและปูนซีเมนต์ของไทย
"กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กับกระทรวงเกษตรฯ นั้นไม่มีปัญหา รัฐมนตรีอยู่พรรคเดียวกัน พูดกันง่ายและพร้อมจะร่วมมือกันอย่างเต็มที่อยู่แล้วในเรื่องการประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรไทยให้คนรัสเซียและเครือรัฐเอกราช (ซีไอเอส) ได้รู้จัก เรามีสำนักงานท่องเที่ยวอยู่ที่นี่ สามารถทำได้ตลอดเวลา แต่ปัญหาก็คือ เรื่องธุรกิจการค้าการขายนั้นไม่ใช่หน้าที่เรา แต่จะอยู่อีกกระทรวง ซึ่งก็พร้อมทำงานร่วมกันอยู่แล้ว"
ชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้มุมมองการเจาะตลาดสินค้าเกษตรไทยในสหพันธรัฐรัสเซียและเครือรัฐเอกราช (ซีไอเอส) ระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานงานส่งเสริมการขายการท่องเที่ยว "MATIW-Leisure 2009" ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งยอมรับว่าการประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรไทยให้คนในภูมิภาคนี้รู้จักและได้ ลิ้มรสชาติอาหารไทยจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวในประเทศด้วย เพราะหากนักท่องเที่ยวรัสเซียเคยรับประทานอาหารไทยแล้ว เมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยก็จะไม่เป็นปัญหาในเรื่องอาหารการกิน
ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนไทยไม่กี่รายที่เข้ามาเจาะตลาดสินค้าเกษตรในรัสเซีย และหนึ่งในนั้นก็คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือซีพีเอฟ ที่เข้ามาเปิดสำนักงานขายในกรุงมอสโก เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร ซึ่งได้รับตอบรับจากลูกค้าในประเทศนี้เป็นอย่างดี แม้ว่าราคาจะค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากประเทศคู่ค้าหลักของรัสเซียอย่างจีนและเวียดนาม
ขณะที่ วิษณุ เจริญศิลป์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานมอสโก ยอมรับว่า สินค้าเกษตรไทยยังไม่แพร่หลายในรัสเซียมากนัก ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากจีนและเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร ข้าวสารอาหารแห้ง ตลอดจนผลไม้ต่างๆ ทั้งที่คนรัสเซียจะให้ความสนใจสินค้าจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก
"จากตัวเลขในปี 2551 ชาวรัสเซียเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไทยประมาณ 3.2 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 2.8 แสนคน ส่วนใหญ่จะไปเที่ยวชายทะเล เช่น พัทยา ภูเก็ต เกาะสมุย คนรัสเซียจะชอบทะเลมาก เพราะบ้านเขาไม่มีแบบบ้านเรา แต่ปัญหาเรื่องอาหารการกินคนรัสเซียจะแปลกมาก ถ้าอาหารไม่คุ้นลิ้นหรือไม่เคยลองก็จะไม่กินเลย แต่ถ้าเขาเคยลองแล้วชอบก็จะไม่ลังเลเลย เท่าที่สังเกตคนรัสเซียชอบอาหารไทยนะ โดยเฉพาะผลไม้ไทยเขาชอบมาก" วิษณุให้ความเห็นพฤติกรรมการกินของคนรัสเซีย
ส่วนมุมมองของ อภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองว่า รัสเซียและเครือรัฐเอกราชถือเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจสำหรับสินค้าเกษตรไทย เนื่องจากเป็นประเทศที่ผู้คนมีกำลังซื้อสูงมากแล้ว แต่ปัญหาที่เอกชนไทยเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มนี้ได้น้อย เป็นเพราะว่ากลัวปัญหาเรื่องการถูกหลอก เรื่องมาเฟีย ส่งสินค้าไปแล้วไม่ได้เงิน ทำให้ภาคเอกชนไทยไม่กล้าเข้าไปลงทุน ทั้งๆ ที่ผลิตภัณฑ์สินค้าทางการเกษตรของไทยได้รับความนิยมจากคนกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก
โฆษกกระทรวงเกษตรฯ ยอมรับว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ จะเป็นฝ่ายสนับสนุนมากกว่าที่จะไปรุกทำตลาดเองโดยตรง ซึ่งหน้าที่หน่วยงานเป็นของกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว อย่างเช่น การตรวจสอบคุณภาพผลผลิตและสารตกค้างในพืชผักสดและผลไม้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือภาคเอกชนไทยร้องขอมา โดยผ่านสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศที่ประจำอยู่ในประเทศนั้น
"อย่างซีพี เป็นบริษัทใหญ่ มีประสบการณ์ทางการค้าสูง ถือเป็นเอกชนไทยรายแรกที่เข้าไปลงทุนในรัสเซีย แล้วเขาก็โชคดีที่ซื้อที่ดินมาเป็นของตนเองได้ ปกติรัสเซียจะไม่ขายที่ดินให้ต่างชาตินะ สินค้าเกษตรหลายตัวเขาก็ส่งเข้าไป แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องส่งไปยังประเทศในแถบยุโรปก่อนแล้วจึงค่อยส่งต่อไปยังรัสเซีย แทนที่จะส่งตรงเลย ก็เพราะเอกชนเขากลัวปัญหาตรงนี้" โฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวย้ำ
อาจกล่าวได้ว่า ทางออกของปัญหาดังกล่าวภาครัฐจะต้องเป็นตัวจักรสำคัญในการรุกตลาดกลุ่มนี้ โดยเฉพาะการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ง่ายในการเข้าไปลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น ที่ผ่านมาภาครัฐยังไม่ได้ทำอะไรได้มากนัก ทำได้แค่เพียงให้หน่วยงานไทยที่ตั้งอยู่ในมอสโกช่วยในการประสานงานและอำนวยความสะดวกเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นคู่เจรจาทางการค้าโดยตรง
สอดรับกับความเห็นของ มังกร ธนสารศิลป์ ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย ที่มองว่า การที่เอกชนไทยเข้าไปลงทุนในรัสเซียนั้นไม่ง่าย หากรัฐบาลไม่เข้ามาช่วย เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ การดำเนินการต่างๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลเท่านั้น แต่หากรัฐบาลไฟเขียวปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะการติดต่อประสานระหว่างภาคเอกชนด้วยกันในประเทศนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก เสี่ยงต่อการถูกโกงสูง จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหันมาสนใจการลงทุนในตลาดกลุ่มนี้ด้วย
"ตอนนี้ภาคเอกชนพร้อม แต่รัฐบาลจะต้องเป็นตัวรุก ลำพังให้เอกชนดิวกับเอกชนด้วยกันคงเป็นเรื่องยาก มันเสี่ยงเกินไป ไม่เหมือนกับประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ แต่ถ้าได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลเขาแล้ว ทุกอย่างจะง่ายหมด" ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซียกล่าวทิ้งท้าย
สหพันธรัฐรัสเซีย นับเป็นตลาดใหม่ที่น่าจับตาสำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารและสินค้าเกษตรไทย เพราะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และยังเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดให้คนรัสเซียหันมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น เพียงแต่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและรุกตลาดกลุ่มนี้อย่างจริงจังเท่านั้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 5 ตุลาคม 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20091005/31187/สำรวจสินค้าเกษตรในต่างแดนมอสโกตลาดใหม่ที่น่าจับตา.html