'มะเดื่อฝรั่ง' ผลผลิตจากโครงการหลวง
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 52
'มะเดื่อฝรั่ง' ผลผลิตจากโครงการหลวง
มะเดื่อฝรั่ง ดั้งเดิมนั้นอยู่ทางตะวันตกของทวีปเอเชีย ส่วนการปลูกที่เป็นการค้าของโลกอยู่ในแถบลุ่มน้ำเมดิเตอร์เรเนียน ประเทศอิตาลี โปรตุเกส สเปน ตุรกี และกรีซ บางพันธุ์สามารถปลูกได้ในแคลิฟอร์เนียทางใต้ และพื้นที่แห้งแล้งของประเทศสหรัฐอเมริกา และพบว่ามีการผลิตแหล่งใหม่ได้แก่แอฟริกาใต้ มาดากัสกา อาร์เจนตินา และออสเตรเลีย อีกด้วย
ประเทศไทยนับว่าเป็นถิ่นของพืชในตระกูลมะเดื่ออยู่มากมายหลายชนิด พบได้มากถึงประมาณ 80-90 ชนิด บางชนิดนำมาใช้บริโภคได้ บางชนิดก็ไม่สามารถนำมาบริโภคได้ หรือมักมีแมลงเข้าไปวางไข่และเจริญเป็นตัวหนอนอยู่ภายในผล ที่รู้จักกันทั่วไปมีชื่อว่า มะเดื่อป่า และมะเดื่ออุทุมพร (มะเดื่อชุมพร) คนไทยส่วนใหญ่ที่ไปต่างประเทศอาจเคยได้รับประทานแบบผลสด ผลแห้ง และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันมีการนำเข้าผลมะเดื่อฝรั่งอบแห้งและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพตลอดจนผู้สูงอายุ
มูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำต้นพันธุ์มะเดื่อฝรั่งจากต่างประเทศเข้ามาทดลองปลูกและศึกษาวิจัยมา เกือบ 25 ปี มีหลายสายพันธุ์ โดยพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่โครงการหลวงได้แก่ พันธุ์บราวน์ตุรกี (Brown Turkey) ผลมีขนาดใหญ่ รับประทานสด ผลผลิตชุดแรกมีขนาดใหญ่สีน้ำตาลเข้ม ผลชุดหลังมีขนาดเล็กกว่า เนื้อผลสีชมพูอ่อน ๆ พันธุ์โดฟิน (Dauphine) ใช้บริโภคผลสด ทนทานต่อการขนส่ง ผลมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ ผิวเป็นมัน ในสภาพกลางแจ้งผิวสีม่วงเข้มและในร่มสีม่วงออกเขียว เนื้อหนา คุณภาพดี ผลรุ่นสองมีขนาดปานกลาง พันธุ์คาโดตา (Kadota) ผิวผลมีความเหนียวและสีเหลืองเขียว ผลผลิตชุดแรกมีรสชาติที่ดีกว่า เป็นพันธุ์ที่ใช้ในการอบแห้งและแปรรูป ต้นมีความแข็งแรง ปกติไม่มีเมล็ด
มะเดื่อฝรั่งเป็นไม้ผลที่มีอายุยืนยาวได้มากกว่า 100 ปี จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานหลายสิบปี ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผลผลิตมะเดื่อประมาณ 90% ในโลก จะถูกแปรรูปแบบผลไม้แห้ง และเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูใบไม้ร่วงโดยปล่อยให้ผลสุกเต็มที่ และหล่นลงบนพื้นที่แห้ง ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาจะใช้การเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักร นอกนั้นจะใช้รับประทานเป็นผลไม้สดโดยการเก็บเกี่ยวจากต้น มีปริมาณน้อยมากที่บรรจุลงในกระป๋องหรือทำการแปรรูป
ในด้านของคุณค่าทางอาหาร มะเดื่อฝรั่งเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าอาหารสูง ให้เส้นใยที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการกำจัดของเสียของร่างกาย เกลือโพแทสเซียมในกรดอินทรีย์ของมะเดื่อช่วยสร้างสมดุลความเป็นกรด-ด่าง ในร่างกาย นอกจากนี้ยังพบว่าภายในผลมีโปรตีน เอ็นไซม์ วิตามิน และเกลือแร่ชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย และปริมาณก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น ผลสด ของ Kadota น้ำหนัก 100 กรัม มีแคลเซียม 32 มิลลิกรัม ซึ่งมากกว่าผลไม้ชนิดอื่นหลายชนิด ผลมะเดื่อหรือสารสกัดที่ได้จากผลได้ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ในรูปของสารยับยั้งเซลล์มะเร็ง จึงจัดเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพชนิดหนึ่ง
อนาคตมะเดื่อฝรั่งสำหรับประเทศไทย จากสถานการณ์และสภาพแวดล้อม การทำเกษตรบนพื้นที่สูงในโลกปัจจุบันต้องคำนึงถึงผลกระทบและการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องมีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพแบบครบวงจรตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึง มือผู้บริโภค นอกจากนี้ผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ ยิ่งทำให้ต้องค้นหาพันธุ์พืชที่มีความเป็นไปได้ และได้รับความนิยมตามกระแสผู้บริโภคให้มากขึ้น ดังนั้นมะเดื่อฝรั่งซึ่งเป็นพืชที่ไม่ต้องการความหนาวเย็นมากนัก สามารถปลูกในระดับความสูง 600-800 เมตรจากน้ำทะเลได้ เป็นผลไม้ที่รับประทานได้ทั้งสดและแห้ง จึงคาดว่าน่าจะเป็นไม้ผลทางเลือกเสริมรายได้อีกชนิดหนึ่งสำหรับการเกษตรบน พื้นที่สูง
สำหรับในปีนี้มูลนิธิโครงการหลวง ได้ขยายพื้นที่ปลูกมะเดื่อฝรั่งและมีผลผลิตในปริมาณกว่า 1,500 กิโลกรัม วางจำหน่ายในร้านโครงการหลวงสาขาต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และต่างจังหวัด ผู้ที่ต้องการลิ้มลองผลไม้นอกที่สามารถปลูกในประเทศไทยและเป็นผลไม้ที่มี ประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถนำไปเป็นของฝากแก่ผู้สูงอายุ สามารถติดต่อ สั่งซื้อโดยตรงได้ที่ งานขาย โครงการหลวง กรุงเทพฯ โทร. 0-2942-8656-9 หรืองานขาย โครงการหลวงเชียงใหม่ โทร. 0-5321-1656.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=24262
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า