เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 52
นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมฯได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ 18 จังหวัด ที่มีการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ติดตามและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังอย่างใกล้ชิด สำหรับสาเหตุการระบาดของเพลี้ยแป้งในรอบที่สองนี้ เกิดจากปัญหาฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้พื้นที่ระบาดขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังได้รับความเสียหายจากการทำลายของเพลี้ยแป้งรวม ไม่น้อยกว่า 462,675 ไร่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ระบาดสูงถึงเกือบสองแสนไร่ รองลงมา คือ กาญจนบุรี และบุรีรัมย์ คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1,300 ล้านบาท และจากพื้นที่การระบาดทั้งหมดยังพบพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่มีการระบาดใหม่ ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จำนวน 17,717 ไร่ และจังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 20,000 ไร่
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้มันสำปะหลังเสียหายเพิ่มมากขึ้นจากการทำลายของเพลี้ยแป้ง และเป็นการตัดวงจรของเพลี้ยแป้งไม่ให้แพร่ระบาดในพื้นที่เดิมและลุกลาม กระจายไปสู่แหล่งปลูกอื่นๆ กรมฯได้เตรียมมาตรการดำเนินงานโดยเน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้เกี่ยว ข้องสร้างความร่วมมือในการกำจัดเพลี้ยแป้งอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยให้ตัดยอดมันสำปะหลังเพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดอยู่กับยอด ขณะเดียวกันยังสนับสนุนให้ฉีดพ่นสารเคมีในพื้นที่ระบาดด้วย พร้อมส่งเสริมให้ใช้ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งมาช่วยในการควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งด้วย ได้แก่ การพ่นเชื้อราบิวเวอเรีย และการปล่อยแมลงช้างปีกใส ซึ่งคาดว่าจะสามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งในพื้นที่ระบาดอย่างได้ผล สามารถลดความสูญเสียจากการทำลายของเพลี้ยแป้ง และช่วยรักษาผลผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 6 ตุลาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=181838