17 ปี ขยายผลหญ้าแฝกกว่า 2,500 ล้านกล้า
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 52
17 ปี ขยายผลหญ้าแฝกกว่า 2,500 ล้านกล้า
นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า จากการที่นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการพัฒนา และรณรงค์การใช้
หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการ กปร. นางสาวศรีนิตย์ บุญทอง ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร. และคณะผู้ปฏิบัติงานโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2552 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุขวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อกราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน
ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการฯ หญ้าแฝก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นชนิด พืชที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน พระราชดำริให้ศึกษาและนำมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา และได้พระราชทานพระราชดำริอีกกว่า 30 ครั้ง ถึงแนวทางในการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสนองพระราชดำริโดยดำเนินการศึกษาวิจัย และปฏิบัติในพื้นที่จริง ขณะเดียวกันทรงติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ และพระราชทานพระราชดำริให้ปรับปรุงแก้ไขเสมอมา
“พระองค์ทรงเห็นความสำคัญและได้ศึกษาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าหญ้าแฝกมีประโยชน์ในการอนุรักษ์ดิน และน้ำได้เป็นอย่างดี เนื่องเพราะหญ้า แฝกมีรากยาว ซึ่งรากจะประสานติด ต่อกันแน่นหนาเหมือนกำแพงใต้ดิน ทำให้สามารถกักเก็บน้ำและความชื้นได้” นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ กล่าว
และจากการดำเนินงานโครงการพัฒนา และรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ มีการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมปรากฏผลอย่างชัดเจนในการใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ตั้งแต่โรงเรียนระดับประถมศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ ตลอดจนเอกชนและพื้นที่ของเกษตรกร ซึ่งพระองค์ให้ความสำคัญกับงานเรื่องหญ้าแฝกมาก นับมาถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว และทางโครงการฯ ได้ทำการศึกษาทดลองเรื่องหญ้าแฝกกว่า 200 เรื่อง และมีความสำเร็จที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งหลังจากการศึกษาทดลองแล้ว ยังได้ขยายผลไปสู่การปฏิบัติโดย ขยายผลออกไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มากถึง 2,500 ล้านกล้า
อย่างไรก็ตาม
สำหรับการปลูกหญ้าแฝกให้ได้ผลเร็วตามที่ต้องการนั้นควรจะมีการเตรียมดินและ ให้ปุ๋ยอินทรีย์บ้างก็จะเป็นการดี เพราะจะทำให้หญ้าแฝกมีการเจริญเติบโต แตกกอทำหน้าที่ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น วิธีปลูกให้ใช้กล้าหญ้าแฝกจากหน่อที่เตรียมไว้ปลูกหลุมละ 2-3 หน่อ โดยใช้ระยะ ห่าง 5 เซนติเมตร ฤดูกาลปลูกที่เหมาะสม คือในช่วงต้นฤดูฝน และควรปลูกในขณะที่ดินยังมีความชุ่มชื้นอยู่ แต่สำหรับพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ก็ควรปลูกก่อนฤดูฝน ทั้งนี้ก็เพื่อให้หญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตซึ่งเมื่อถึงฤดูฝนรั้วหญ้า แฝกที่ปลูกไว้ก็สามารถกรองตะกอนดิน และซับน้ำฝนที่ไหลบ่าเอาไว้ ทำหน้าที่ป้องกันการชะล้างพังทลายได้ตั้งแต่ฤดูฝนแรกทีเดียว
เมื่อต้นหญ้าแฝกตั้งตัวได้แล้วควรมีการตัดใบหญ้าแฝกให้สูงจากพื้นดินประมาณ 40 เซนติเมตร จะช่วยให้หญ้าแฝกแตกกอชิดติดกันเร็วขึ้น เมื่อหญ้าแฝกเจริญเติบโตเต็มที่จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของกอประมาณ 30-40 เซนติเมตร เท่านั้น นอกจากนี้การเตรียมดินเพื่อปลูกพืชก็สามารถไถที่เตรียมดินได้จนติดแนวรั้วหญ้าแฝก
และมีการศึกษาวิจัยได้ข้อสรุปมาแล้วว่า พืชไร่ที่ปลูกชิดติดกับแนวหญ้าแฝกก็ให้ผลผลิตสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหญ้าแฝกไม่เป็นพืชที่แย่งอาหารของพืชหลัก.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=24678
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า