เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 52
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรกำลังอยู่ระหว่างการรปรับปรุงแก้ไขบางมาตราของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่และการส่งออกเมล็ดพันธุ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่การส่งออกเมล็ดพันธุ์ใหม่ต้องเข้าเป็นสมาชิกและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของยูพอฟ (UPOV: International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ซึ่งพบว่า รายละเอียดบางส่วนของ พ.ร.บ. ยากต่อการปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เนื่องจากเนื้อหามีความเกี่ยวเนื่องและกระทบกับพันธุ์พืชพื้นเมือง ซึ่งตรงกับความเห็นของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ที่เห็นควรให้แยกประเภทและลักษณะการคุ้มครองระหว่างพันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมือง และพันธุ์พืชป่า ออกจากกัน เพื่อให้เกิดศักยภาพในกระบวนการคุ้มครองเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทย อาทิ ข้าวหอมมะลิ ไปพร้อมๆ กับการที่เมล็ดพันธุ์พืชใหม่ของไทยได้รับการคุ้มครองเมื่อส่งออกไปยังตลาดโลก
"ความคืบหน้าในขณะนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฎหมายของกรมวิชาการเกษตร นำร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับแก้ไข เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และคาดว่าการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ จะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน ก็จะสามารถเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ขอยกร่างซึ่งบรรจุอยู่ในแผนนิติบัญญัติปี 2552-2554 อยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ จะต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบ เนื่องจากถึงแม้ไทยจะเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์พืชที่ดีแห่งหนึ่งของโลก มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งมูลค่าการค้าเมล็ดพันธุ์มีมูลค่าถึงปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่ก็ต้องคำนึงถึงเกษตรกรรายย่อยที่ทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ตามวิถีดั้งเดิม รวมถึงการรักษาพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยด้วยเช่นกัน" นายธีระ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 9 ตุลาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=182389