ผลิตใบมะกรูดเชิงการค้า
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 52
ผลิตใบมะกรูดเชิงการค้า
รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม บอกว่าต้น
มะกรูดที่ปลูกตามธรรมชาติหรือตามสวนทั่วไปมักมีการออกดอกเป็นฤดูกาล ทำให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จึงเป็นผลพลอยได้มากกว่าการผลิตเพื่อเอาส่วนของผลโดยตรง
แต่การผลิตใบมะกรูดเชิงการค้านั้น จะมุ่งเน้นเฉพาะการเจริญเติบโตด้านกิ่งใบเป็นหลัก การตัดแต่งเป็นการกระตุ้นให้มีการผลิตาและยังส่งเสริมในด้านการเจริญเติบโต ทางกิ่งใบรวมทั้งระยะปลูกและจำนวนต้นที่ปลูกจะต้องมีความเหมาะสม
สภาพพื้นที่ปลูกต้นมะกรูดต้องมีการระบายน้ำที่ดี น้ำไม่ท่วมขัง มีระดับ pH 5.5-7.0 ดินมีอินทรียวัตถุสูง เนื่องจากระยะปลูกมะกรูดมีความสัมพันธ์กับการเตรียมแปลงและจำนวนต้นปลูก ความกว้างของแปลงปลูก 1 เมตร ยกระดับความสูงของแปลงประมาณ 20-25 เซนติเมตร ความห่างระหว่างจุดกึ่งกลางของแปลง 1.5 เมตร ระยะปลูกห่างระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ปลูกแบบสลับฟันปลา
การใช้ระยะปลูกที่ห่างกว่านี้ไม่มีความจำเป็นเนื่องจากการผลิตใบมะกรูดต้องอาศัยกรรมวิธีในการตัดแต่งซึ่งเท่ากับเป็นการควบคุมขนาดพุ่มต้นพร้อมกันด้วย กิ่งพันธุ์สามารถใช้ต้นพันธุ์ที่ขยายพันธุ์จากการเพาะเมล็ด กิ่งปักชำ หรือกิ่งตอนก็ได้ แต่ต้นพันธุ์มะกรูดที่จะนำมาใช้ปลูกจะต้องปลอดจากโรคแคงเคอร์ หากโรคแพร่ระบาดเข้าไปในแปลงปลูกแล้ว ก็ยากที่จะกำจัดได้และมีปัญหาต่อการส่งออก
เทคนิคสำคัญในการจัดการในแปลงปลูกมะกรูดมีดังนี้ จะใช้ผ้าพลาสติกคลุมแปลงปลูกหรือใช้ฟางข้าวคลุมแปลง เพื่อป้องกันวัชพืชและช่วยรักษาความชื้น หากมีการใช้ผ้าพลาสติกคลุมแปลงแล้ว ระบบการให้น้ำจำเป็นต้องใช้เป็นแบบน้ำหยดที่มีการให้ปุ๋ยไปกับน้ำพร้อมกันด้วย สำหรับแปลงปลูกที่ไม่ได้มีการใช้ผ้าพลาสติกแล้ว ก็สามารถเลือกใช้การให้น้ำระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามความเหมาะสมได้ การให้ปุ๋ย ผลจากการตัดใบมะกรูดนั้นเป็นการนำเอาแร่ธาตุอาหารออกไปจากดินอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่จะต้องให้ปุ๋ยชดเชยกลับคืนให้กับต้นดังเดิม ระดับของปริมาณธาตุอาหาร N-P-K ควรมีสัดส่วนประมาณ 5 : 1 : 3 หรือ 5 : 1 : 4 หรือใกล้เคียงกัน
การเก็บเกี่ยวใบมะกรูดครั้งแรกเมื่อปลูกไปประมาณ 4-6 เดือน จะเริ่มการตัดแต่งกิ่งโดยตัดให้อยู่ในระดับความสูง 60-80 เซนติเมตร จากผิวดิน กำจัดกิ่งที่อยู่ในแนวนอนออกไป ภายหลังการตัดแต่งแล้ว ตาจะเริ่มผลิ ผลจากการศึกษา การผลิตใบมะกรูดควรปฏิบัติดังนี้ กิ่งควรอยู่ในแนวตั้งฉากหรือเกือบตั้งฉาก จะให้จำนวนกิ่ง จำนวนใบต่อกิ่งและขนาดใบที่ใหญ่
ระดับของการตัดแต่ง ไม่ควรตัดแต่งเกินครึ่งหนึ่งของความยาวกิ่ง หากตัดเหลือตอกิ่งมีผลทำให้การผลิตายืดเวลาออกไป ขนาดของกิ่งที่เหมาะสม ควรเป็นกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=568&contentID=24887
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า