เกษตรกรหันไปปลูกข้าวโพด หลังเพลี้ยระบาดมันสำปะหลัง
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 52
เกษตรกรหันไปปลูกข้าวโพด หลังเพลี้ยระบาดมันสำปะหลัง
จากสถานการณ์เพลี้ยแป้งระบาดในไร่มันสำปะหลังกระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจำนวนไม่น้อย เริ่มถอดใจกับสถานการณ์ดังกล่าวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ จนมีการหันเหเป้าหมายไปปลูกข้าวโพด และอ้อย พืชเศรษฐกิจอีกชนิดทดแทนซึ่งยังมีแนวโน้มสดใสอยู่แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่ารีบเร่งขายผลผลิต เพราะรัฐบาลทำโครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังแล้ว เกรงว่าจะทำให้เกษตรกรเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า จากผลการติดตามสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรในระยะนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหันไปปลูกข้าวโพดและอ้อยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาพื้นที่ปลูกหลายแห่งเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและมีการระบาดของเพลี้ยแป้งเพิ่มเติม และผลจากการระบาดของเพลี้ยแป้งในแหล่งปลูกมันสำปะหลังตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้หันไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยโรงงานทดแทน ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้สูงถึง 830 บาทต่อตัน
นอกจากนี้ ขณะนี้ยังพบพื้นที่การระบาดซ้ำของเพลี้ยแป้งอีกหลายแหล่ง เช่น กาญจนบุรี สระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา โดยประมาณการเบื้องต้นคาดว่าผลผลิตในแปลงมันสำปะหลังอายุ 5-8 เดือนที่พบการระบาดรุนแรง จะมีความเสียหาย 40-60% ทำให้คาดการณ์ได้ว่าผลผลิตมันสำปะหลังน่าจะลดลงจาก 27.76 ล้านตัน จากที่ได้ประมาณการในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา
“เกษตรกรจำเป็นต้องหมั่นตรวจแปลงมันสำปะหลัง หากตรวจพบเพลี้ยแป้งต้องควบคุมทันที และควรรวมกลุ่มเพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดและการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ใน พื้นที่เพื่อป้องกันมิให้การระบาด ขยายวงกว้างกว่าเดิม ส่วนการปลูกใหม่ต้องหาต้นพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของเพลี้ย ต้องแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีไทอะมิโทแชมก่อนปลูก รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มเพื่อผลิตขยายศัตรูธรรมชาติเพื่อใช้ควบคุมเพลี้ยแป้ง โดยเกษตรกรสามารถสอบถามวิธีการป้องกันกำจัดได้จากเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่” นายอภิชาต กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลได้เริ่มทำโครงการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยนำร่อง 3 สินค้าหลักได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ มันสำปะหลัง ซึ่งมี 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ การขึ้นทะเบียนและทำประชาคมรับรองการผลิต การทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. และการใช้สิทธิสัญญาประกันรายได้ตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาโดยไม่ต้องส่งมอบสินค้า ทั้งนี้ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการประชาคมรับรองแล้วอย่ารีบร้อนขายผลผลิต จะต้องทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. ก่อน จากนั้นติดตามสถานการณ์ราคาตลาดอ้างอิงเพื่อใช้สิทธิสัญญาประกันรายได้ตามเวลาที่กำหนด และรอราคาเพื่อขายผลผลิต
สำหรับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรนั้น ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ สามารถรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรทั่วประเทศได้จำนวนทั้งสิ้น 5,822,115 ครัวเรือน คิดเป็น 100.69% ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าจำนวนครัวเรือนเกษตรกรจากฐานข้อมูลเดิมของกระทรวงเกษตรฯ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5,782,108 ครัวเรือน
แม้ว่าในปีนี้ผู้ปลูกมันสำปะหลังจะถูกภัยธรรมชาติและโรคแมลงเข้าทำลายทำให้เสียผลผลิตไป แต่ก็ยังดีที่ภาครัฐยังยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือภายใต้โครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกร ก็ขอเอาใจช่วยให้สู้ต่อไปก็แล้วกัน เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=25389
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า