เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 52
สำนักข่าวไซเอินซ์เดลี่ รายงานว่า นักวิจัยมหาวิทยาลัยควีน กรุงเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ บุกเบิกคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ หวังนำต้นกล้วยมาใช้ผลิตพลาสติก
โครงการบานาน่าโปรเจ็กต์ มูลค่า 50 ล้านบาท พัฒนาโดยศูนย์วิจัยการขึ้นรูปโพลิเมอร์ มหาวิทยาลัยควีน มีแผนนำซากต้นกล้วยบนหมู่เกาะคาร์นารี มาใช้ผลิตแม่พิมพ์พลาสติกแข็งแรงคงทน นายมาร์ก เคิร์นส์ ผู้บริหารศูนย์ฯ กล่าวว่า ทุกวันนี้กล้วย 20 เปอร์เซ็นต์ ที่ประชากรในยุโรปบริโภคอยู่นั้นมาจากสวนกล้วยในหมู่เกาะคาร์นารี และเฉพาะบนเกาะแกรนคานาเรียของหมู่เกาะแห่งนี้ปลูกและทำลายกล้วยถึงปีละ 10 ล้านต้น
"แต่ละปีพอชาวสวนหมู่เกาะคาร์นารีตัดกล้วยไปขายเรียบร้อยแล้ว ก็จะตัดต้นกล้วยทิ้งด้วยจนกลายเป็นขยะ 25,000 ตัน" เคิร์นส์ กล่าว
เคิร์นส์ อธิบายว่า แทนที่จะเอาไปทิ้ง คณะนักวิจัยมองว่า "ไฟเบอร์" หรือเส้นใยจากต้นกล้วยที่คนมองว่าไร้ค่า สามารถนำมาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก ถ้านำมาใช้ในกระบวนการขึ้นรูปพลาสติกด้วยแม่พิมพ์หมุนเหวี่ยง เพื่อผลิตของใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ หลากหลายชนิด อาทิ แท็งก์น้ำมัน ล้อเลื่อน แท็งก์น้ำ กรวยจราจร ตุ๊กตา เรือบางประเภท ฯลฯ
สำหรับ กรรมวิธีการผลิต ก็คือ ผสมไฟเบอร์ในต้นกล้วยเข้ากับวัตถุดิบพลาสติก และนำไปประกอบอยู่ระหว่างชั้นพลาสติกบริสุทธิ์ 2 ชั้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้าง เรียกว่าเทคนิค "บานาน่า แซนด์วิช" ซึ่งเทคนิคใหม่นี้ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะช่วยลดการใช้สาร "โพลีเอทิลีน" (Polyethylene) ในกระบวนการขึ้นรูปพลาสติกด้วยแม่พิมพ์หมุนเหวี่ยง ขณะเดียวกัน ยังช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้ชาวสวนกล้วยดีกว่าตัดทิ้งไปเปล่าๆ
ทั้งนี้ โพลีเอทิลีนเป็นสารที่นำมาใช้ทำให้พลาสติกมีความทนทาน แต่กระบวนการผลิตมีสารเคมีเป็นพิษเกิดขึ้นมากมาย เช่น สารเบนซีน และสารก่อมะเร็ง โครเมียมออกไซด์
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 14 ตุลาคม 2552
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdNVEUwTVRBMU1nPT0=§ionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBd09TMHhNQzB4TkE9PQ==