เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 52
นายวัชระ กรรณิการ์ ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฝ่ายการเมือง เปิดเผยถึงการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการขึ้นทะเบียนการปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวโพด มันสำปะหลัง และข้าว ว่า ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในขั้นตอนของการสำรวจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาคม บันทึกข้อมูลและจัดเก็บให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองแล้ว สามารถนำหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก (ทพศ. 1-3) ไปทำสัญญากับ ธ.ก.ส. ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรได้ทันที
นายโอฬาร พิทักษ์ รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน สามารถรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรทั่วประเทศได้ ทั้งสิ้น 5,872,549 ครัวเรือน คิดเป็น 101.56% ซึ่งสูงกว่าจำนวนครัวเรือนเกษตรกรจากฐานข้อมูลเดิมที่มี 5,782,108 ครัวเรือน
โดยการขึ้นทะเบียนแบ่งออกเป็น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 390,076 ครัวเรือน คิดเป็น 103.49% ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับจำนวนครัวเรือนเกษตรกรตามฐานข้อมูลเดิม พื้นที่ 8,569,655 ไร่ ผลผลิต 6,659,407 ตัน ขณะที่มันสำปะหลังรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ 423,844 ครัวเรือน คิดเป็น 108.64% ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนครัวเรือนเกษตรกรตามฐานข้อมูลเดิมเช่นกัน พื้นที่ 8,018,667 ไร่ ผลผลิต 16,617,069 ตัน
ส่วนข้าวซึ่งเพาะปลูกมากถึง 3.7 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ อีกทั้งการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในแต่ละภาคจะไม่พร้อมกัน เช่น ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเก็บเกี่ยวประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน ภาคใต้จะปลูกประมาณเดือนตุลาคมและเก็บเกี่ยวเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้การขึ้นทะเบียนการปลูกข้าว ซึ่งจะดำเนินการเมื่อมีการปลูกในพื้นที่จริงเท่านั้น สามารถขึ้นทะเบียนได้ 2,773,678 ครัวเรือน คิดเป็น 74.66% พื้นที่ 49,655,200 ไร่ ผลผลิต 25,624,110 ตัน โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ขยายเวลาการขึ้นทะเบียนการปลูกข้าวสำหรับภาคกลาง ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้ซึ่งเริ่มเพาะปลูกช้ากว่าภูมิภาคอื่น ให้ขยายเวลาขึ้นทะเบียนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2553
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 14 ตุลาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=183034